“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 92 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานใกล้ชิด ป้องกันการจมน้ำเสียชีวิตช่วงปิดเทอม แนะยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” และช่วยชีวิตที่ถูกต้องโดยการเป่าปากและนวดหัวใจ และนำส่งโรงพยาบาลทุกราย ห้ามจับเด็กอุ้มพาดบ่า/กดท้อง/ห้อยหัว เพราะน้ำที่ออกมาเป็นน้ำจากกระเพาะอาหาร ไม่ใช่จากปอด จะทำให้ขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงปิดเทอม มักพบข่าวเด็กจมน้ำบ่อย จากข้อมูลกรมควบคุมโรคปี 2561 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 681 คน เฉพาะเดือนตุลาคม เดือนเดียวเสียชีวิต 64 คน เป็นเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 2 เท่า ส่วนใหญ่อายุ 5-14 และ 5- 9 ปี บางเหตุการณ์มีเสียชีวิตมากกว่า 3 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากการเล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น สระน้ำ คลอง บ่อน้ำ แม่น้ำ ทะเล หรือพลัด ลื่น ตกน้ำ แม้แต่ภาชนะใส่น้ำในครัวเรือนเช่นถังน้ำ สาเหตุมาจากขาดการดูแลอย่างใกล้ชิด ปล่อยให้เด็กคลาดสายตา หรือเห็นว่าเด็กอยู่ในห่วงยาง การกระโดดลงน้ำลงไปช่วยคนจมน้ำ เล่นน้ำ โดยไม่มีอุปกรณ์ช่วยลอยตัว ที่สำคัญยังพบว่ามีการช่วยเหลือโดยการจับเด็กจมน้ำอุ้มพาดบ่า ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดและมีผลทำให้เด็กขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น เนื่องจากน้ำที่ถูกกระแทกออกมา เป็นน้ำจากกระเพาะอาหาร ไม่ใช่ออกมาจากปอด ซึ่งน้ำที่ผู้ป่วยอาเจียนออกมาอาจสำลักกลับเข้าปอดได้
“ขอให้ผู้ปกครองช่วยกันดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพังแม้จะอยู่ในห่วงยาง หรือใส่เสื้อชูชีพ เมื่อพบคนจมน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วย ควรช่วยด้วยวิธี “ตะโกน โยน ยื่น” แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องลงน้ำไปช่วย จะต้องประเมินว่า ตนเองสามารถว่ายน้ำได้แข็งมากพอที่จะแบกอีกคนกลับเข้าฝั่ง และต้องลงน้ำไปพร้อมกับอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้เสมอ เพื่อยื่นให้คนจมน้ำจับ แล้วดึงเข้าฝั่ง โดยต้องไม่ให้ตัวผู้ช่วยเหลือสัมผัสกับตัวผู้ประสบภัย” นายแพทย์สุขุมกล่าว
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประชาชนต้องคอยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำกันตามลำพัง แม้จะอยู่ในห่วงยาง หรือใส่เสื้อชูชีพ เพราะเด็กไม่รู้วิธีใช้ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะห่วงยางพลาสติก ปลอกแขนพลาสติก เสื้อชูชีพพลาสติก ไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิต แต่เป็นเพียงของเล่น ไม่มีความแข็งแรง ทนทาน อาจจะรั่วหรือหลุดจากการสวมใส่ ทำให้จมน้ำได้ รวมทั้งร่วมกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น ผลักดันให้เกิดทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) อย่างน้อยตำบลละ 1 ทีม เพื่อดำเนินการป้องกันการจมน้ำในชุมชน ทั้งการจัดทำป้ายเตือนและมีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ การสอนให้คนในชุมชนทุกคนรู้จักกฎความปลอดภัยทางน้ำ วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำ วิธีการช่วยคนตกน้ำ และการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น (CPR) เป็นต้น
หากพบคนจมน้ำให้โทรแจ้งที่หมายเลข 1669 หรือหน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด จับคนจมน้ำนอนบนพื้นราบแห้งและแข็ง ตรวจดูว่า คนจมน้ำรู้สึกตัวหรือไม่ ถ้าไม่หายใจ ให้ทำการให้ความช่วยเหลือโดยการเป่าปากและนวดหัวใจ ทั้งนี้ “การเป่าปาก" ยังมีความจำเป็น เพราะผู้ที่จมน้ำหมดสติเนื่องจากขาดอากาศหายใจ จากนั้นนำคนจมน้ำส่งโรงพยาบาลทุกราย ไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใด
*************************************** 13 ตุลาคม 2562
********************************