กระทรวงสาธารณสุข เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนเอ็นจีโอ เข้าหารือ หาข้อสรุปการใช้ยารักษาโรคมะเร็ง 4 ชนิด ให้โปร่งใส ชัดเจน เป็นที่ยอมรับ ผลสรุปที่ประชุมตั้งคณะทำงานย่อยเรื่องข้อมูลทั้งด้านงบประมาณ ค่ารักษา มาตรฐานการรักษาผู้ป่วย ให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์ นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลักให้เข้าถึงยาคุณภาพดีทุกคน เพื่อเป็นข้อมูลนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตัดสินเชิงนโยบายระดับประเทศ
เย็นวันนี้ (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะทำงานด้านซีแอลของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งดูแลข้อมูลและงบประมาณค่ารักษาพยาบาล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในฐานะหน่วยนำเข้ายา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งป็นสถาบันด้านมาตรฐานรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โดยได้เชิญตัวแทนฝ่ายเอ็นจีโอต่างๆที่เกี่ยวข้องได้แก่ เอดส์ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคไต ชมรมฟื้นฟูชีวิตใหม่ของผู้ป่วยมะเร็ง รวม 10 คน มาให้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อประมวลฐานข้อมูลของการใช้ซีแอลยารักษาโรคมะเร็ง 4 รายการ ได้แก่ ยาอิมาทินิป ( Imatinib) รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งทางเดินอาหาร ยาโดซี่แท็กเซล (Docetaxel) รักษาโรคมะเร็งปอดและโรคมะเร็งเต้านม ยาเออโลทินิป (Erlotinib) รักษาโรคมะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก และยาเลโตรโซล ( Letrozole) รักษาโรคมะเร็งเต้านม เพื่อให้การใช้ซีแอลเป็นที่ยอมรับ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นมิสเตอร์ซีแอล รวบรวมข้อมูลต่างๆเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
ภายหลังการประชุม นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์ตรงกันทั้งรัฐบาลใหม่รัฐบาลเก่าคือ ต้องการให้ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เข้าถึงยารักษาที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพดีทุกคน ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย และมีข้อสรุป 4ประเด็นดังนี้ คือ1.ห็นชอบให้ผู้ป่วยในระบบประกันสุขภาพทุกราย เข้าถึงยารักษามะเร็งที่มีคุณภาพ 2. ที่ประชุมรับทราบขั้นตอนของการทำซีแอล มีการเจรจาต่อรองกับบริษัทยาถูกต้อง 3. ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ประมวลข้อมูลค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ในระบบ กระทรวงสาธารณสุขโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติซึ่งดูแลมาตรฐานรักษา และเครือข่ายของผู้ป่วย เพื่อปรับข้อมูลโดยยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลักภายใน 2 สัปดาห์ และ4.นำเสนอข้อมูลให้ฝ่ายนโยบายต่อไป ขอยืนยันกระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนทำหน้าที่พิทักษ์ประโยชน์ของประชาชนให้เข้าถึงการรักษาอย่างเต็มที่ และต้องการเป็นมาตรฐานเดียวกัน
************************************* 15 กุมภาพันธ์ 2551
View 17
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ