รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งขับเคลื่อนนโยบายลดแออัดในโรงพยาบาล นำร่องโรงพยาบาลระยองเป็นต้นแบบในเขตสุขภาพที่ 6 เน้นนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาระบบบริการ

           วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2552) ที่โรงพยาบาลระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิดโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อลดแออัดของโรงพยาบาลในจังหวัดระยอง พร้อมมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงาน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด องค์กรปกรองส่วนท้องถิ่น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่ง กว่า 200 คน เข้าร่วมรับทราบนโยบาย เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน

          ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ เพิ่มความสะดวก เข้าถึงการรักษา อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยจังหวัดระยอง ตั้งอยู่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีประชากรย้ายถิ่นฐานมาประกอบอาชีพเพิ่มจำนวนมากขึ้น จำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมรองรับทุกๆด้าน รวมทั้งบริการด้านสุขภาพ ได้มีการเร่งรัดพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลทุกระดับในจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ มีความพึงพอใจในระบบริการ

          โดยเฉพาะในเรื่องการลดความแออัด ได้มีแผนการดำเนินการให้โรงพยาบาลระยองเป็นต้นแบบเรื่องลดความแออัดของเขตสุขภาพที่ 6 โดยในระยะสั้นเห็นผลใน 3 เดือน ได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาในโรงพยาบาลทุกแห่งช่วยสนับสนุนการทำงาน การเปิดคลินิกนอกเวลา บริการเจาะเลือดผู้ป่วยนอกสถานที่ นำเทคโนโลยีมาใช้ในแผนกผู้ป่วยนอก ทั้งแอปพิเคชัน คิวออนไลน์ รวมทั้งโครงการรับยาใกล้บ้าน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว อยู่ระหว่างประเมินความพึงพอใจ ส่วนในระยะกลาง เห็นผลภายใน 3-6 เดือน มีแผนการดำเนินการดังนี้ 1.การส่งต่อผู้ป่วยระยะ  ประคับประครอง ผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤตไปยังโรงพยาบาลอำเภอ ที่ยังมีเตียงรองรับ ด้วยระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ  2.การพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลอำเภอทุกแห่ง 3.การจัดตั้งคลินิกอบอุ่นนอกโรงพยาบาล และ4.การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาระบบบริการ

          “ขอให้ใช้เทคโนโลยี อาทิ  Block Chain ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัย มาใช้พัฒนาระบบฐานข้อมูลบริการอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลทั้งจังหวัด ใช้ทั้งการจัดเก็บผลทางห้องปฏิบัติการ ผลเอ็กซเรย์ ยา การวินิจฉัยโรค ประวัติการรักษา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วย เพื่อความสะดวกของผู้ป่วย ช่วยลดความแออัดได้ โดยให้นำร่องดำเนินการใน 3 จังหวัด คือสมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และขยายให้ครบทุกจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 6” ดร.สาธิต กล่าว

          ทั้งนี้ จังหวัดระยองมีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 104 แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่งโรงพยาบาลทั่วไป 2 แห่งโรงพยาบาลชุมชน 6 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลอีก 95 แห่ง

*************************************** 5 พฤศจิกายน 2562

***********************



   
   


View 859    05/11/2562   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ