“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 92 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ แห่งแรกที่โรงพยาบาลระยอง ให้บริการด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม และจะขยายให้ครอบคลุมในโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป จังหวัดละ 1 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2563
วันนี้ (20 ธันวาคม 2562) ที่ จ.ระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จในโรงพยาบาลระยอง พร้อมมอบขาเทียม แขนเทียม รถเข็นและเครื่องช่วยฟัง แก่ผู้พิการ 153 ราย ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการและดูแลสุขภาพคนพิการ ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันรักษาโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการโครงการ “การดูแลสุขภาพคนพิการแบบครอบคลุมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ปี 2563”ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 เพื่อให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงสวัสดิการและความช่วยเหลือจากภาครัฐ
โดยในปี2563 จะเปิด “ศูนย์บริการคนพิการในโรงพยาบาลแบบเบ็ดเสร็จ” One Stop Service ให้บริการครอบคลุมทั้งบริการด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม เพื่อให้คนพิการได้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ การจดทะเบียนและออกบัตรประจำตัวคนพิการ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความพิการและการปรับตัว การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ การศึกษา การฝึกอาชีพ การหาผู้ช่วยเหลือคนพิการ การประเมินและฝึกใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ การรับเบี้ยสงเคราะห์ การกู้ยืมกองทุนสนับสนุนคนพิการ ดำเนินการในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จังหวัดละ 1 แห่งทั่วประเทศ โดยเริ่มแห่งแรกที่โรงพยาบาลระยอง โดยจ.ระยอง มีผู้พิการมาขึ้นทะเบียน 16,782คน ร้อยละ 58 เป็นความพิการทางการเคลื่อนไหว รองลงมาพิการทางการได้ยินและการมองเห็น
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ ได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบสาธารณสุข กับเขตสุขภาพที่ 6 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริม พัฒนาขีดความสามารถในการจัดการสุขภาพตนเองของประชาชนและชุมชน รองรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ทั้งการพัฒนาการสาธารณสุขทางทะเลรองรับความจำเป็นทางสุขภาพ การท่องเที่ยว สาธารณสุขชายแดน รองรับการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ และการเติบโตสู่สังคมดิจิทัล
โดยประเด็นที่จะดำเนินการพัฒนาขับเคลื่อนร่วมกันกับเขตสุขภาพที่ 6 มี 3ด้านหลักๆ ได้แก่ 1.การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ อบรมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ แพทย์ผ่าตัดกระดูกและข้อ แพทย์ศัลยกรรม 2.การพัฒนาระบบบริการและระบบส่งต่อ อาทิ ระบบบริการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว พัฒนาห้องปฏิบัติการพิษวิทยา พัฒนาการตรวจสุขภาพในกลุ่มเสี่ยงพิเศษ ผู้ทำงานในที่สูง งานเชื่อม จัดระบบทางด่วนรับส่ง-ต่อ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke-Refer) ภายใน 24 ชั่วโมง และ3.การพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยี อาทิ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด การผลิตแม่พิมพ์ขึ้นรูปกายอุปกรณ์ เป็นต้น
*************************************************************************