กระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ให้การดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเต็มที่ โดยสำรองงบประมาณช่วยเหลือเบื้องต้น 10 ล้านบาท และปรับแผนช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ 24 ชั่วโมง ยอดผู้ป่วยขณะนี้พุ่งใกล้ 1 แสนราย ส่วนที่โรงพยาบาลอ่างทอง ขณะนี้ทำระบบป้องกันน้ำท่วมเต็มที่ มั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมโรงพยาบาล
วันนี้ (3 ตุลาคม 2549) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมที่ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง และมอบยาสามัญประจำบ้านให้ชาวบ้านที่บ้านบางปลากด ซึ่งถูกน้ำท่วมระดับน้ำสูง 2-3 เมตร เนื่องจากอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกบริการประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ 11 จังหวัด ทั้งภาคเหนือและภาคกลาง ยอดผู้ป่วยสูงขึ้นใกล้ 1 แสนาย ส่วนใหญ่เจ็บป่วยทั่วไป เช่น ตาแดง น้ำกัดเท้า ผื่นคัน ท้องร่วงจากอาหารและน้ำไม่สะอาด ยังไม่พบมีโรคระบาดร้ายแรงแต่อย่างใด
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากปริมาณน้ำท่วมขยายวงกว้าง ถนนใช้การไม่ได้ กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินนเรนทร ออกบริการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยทางเรือ ประชาชนสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ทางหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังได้สำรองงบประมาณส่วนกลางไว้ 10 ล้านบาท ที่ผ่านมาได้ส่งยาสามัญประจำบ้าน 65,000 ชุด ยาแก้น้ำกัดเท้า 10,000 ชุด ยาหยอดตา 10,000 ชุด ผงน้ำตาลเกลือแร่ 10,000 ซอง และรองเท้าบู้ทป้องกันโรคฉี่หนู 5,000 คู่ไปในพื้นที่แล้ว
สำหรับในวันนี้ ได้มอบยาสามัญประจำบ้าน 5,000 ชุด ยาหยอดตา 5,000 ขวด และถุงดำใส่ขยะ 10,000 ใบ เพื่อลดความสกปรกในน้ำ กระทรวงสาธารณสุขได้มียารักษาโรคไว้บริการอย่างเต็มที่ และในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางไปยังกองบัญชาการทหารสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นนทบุรี เพื่อมอบอุปกรณ์พร้อมเวชภัณฑ์สนับสนุนหน่วยทหาร ที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ประกอบด้วย รองเท้าบู้ทหุ้มเข่าป้องกันโรคฉี่หนู จากกรมควบคุมโรค จำนวน 1,000 คู่ โลชั่นทากันยุงและเจลล้างมือชนิดไม่ต้องใช้น้ำ ผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างละ 1,000 ชุด
ด้านนายแพทย์ถวัลย์ พบลาภ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า จากการประเมินสภาพน้ำท่วม มีสถานบริการได้รับความเสียหาย 3 แห่ง คือ สถานีอนามัยจำปาหล่อ อำเภอเมือง สถานีอนามัยบางปลากด อำเภอป่าโมก และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอป่าโมก ระดับน้ำสูง 1-2 เมตร ได้ย้ายที่ทำการมาตั้งบริการประชาชนอยู่ริมถนนแทน ส่วนที่โรงพยาบาลอ่างทอง ซึ่งเคยถูกน้ำท่วมหนักเมื่อปี 2545 ขณะนี้ได้วางระบบป้องกันน้ำท่วมอย่างเต็มที่ ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ 20 เครื่อง และประสานรถดับเพลิงช่วยสูบน้ำอีก 4 คัน มั่นใจว่าจะป้องกันไม่ให้น้ำท่วมโรงพยาบาลได้ และสามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติตลอด 24 ชั่วโมง
*********************************** 3 ตุลาคม 2549
View 11
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ