สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน หลังเกิดคดีแพทย์ถูกฟ้อง รับสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งพัฒนาระบบรักษาด้วยการแพทย์ทางไกลกับผู้เชี่ยวชาญด้วยระบบไฮเทค เพิ่มความสะดวกผู้ป่วยรับการรักษาเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปหาผู้เชี่ยวชาญหลายครั้ง นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ จังหวัดพังงา และทอดพระเนตรระบบบริการของโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 ทรงสอบถามถึงเรื่องที่แพทย์ถูกฟ้องร้องจากคดีฉีดยาชาเพื่อทำผ่าตัดผู้ป่วยไส้ติ่งเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2545 ด้วยความเป็นห่วงแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน เป็นอุทธาหรณ์ให้ทุกคนได้รับรู้ว่า ควรจะพิจารณาให้รอบคอบในทุกประเด็น เพื่อไม่ให้ระบบบริการสะดุดมีปัญหาตามมา เนื่องจากผลที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนไม่กล้าทำการผ่าตัด ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลจังหวัด เช่น ที่โรงพยาบาลลำปาง ขณะนี้การผ่าตัดทุกคืนเพิ่มขึ้นคืนละกว่า 20 ราย ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตทำผ่าตัดคืนละกว่า 10 ราย ในระยะยาวอาจทำให้อัตราป่วยตายจากการส่งต่อมีมากขึ้น ซึ่งในกรณีผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น การส่งต่อระยะไกลอาจทำให้ไส้ติ่งแตกก่อนได้ นอกจากนี้ ยังทรงเป็นห่วงเรื่องความสะอาดของห้องส้วมผู้ป่วย หอผู้ป่วย บ้านพักเจ้าหน้าที่ และมาตรฐานห้องอุบัติเหตุของโรงพยาบาล ทรงแนะให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มงานป้องกันซึ่งเป็นงานเชิงรุก ในเรื่องการดูแลสุขภาพประชาชนไม่ให้ป่วยมากขึ้น เพื่อลดภาระงานของแพทย์ เนื่องจากบุคลากรทางแพทย์มีน้อย แต่จำนวนผู้ป่วยมีมาก นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อกระทรวงสาธารณสุข และจะน้อมเกล้าฯ เร่งดำเนินการโดยเร็ว โดยในปีนี้ ได้ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ เร่งดำเนินการ 2 เรื่องใหญ่คือ การปรับปรุงห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินให้มีความสะอาดปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน มีการติดตั้งระบบปรับอากาศให้หมุนเวียน เนื่องจากห้องฉุกเฉินบางแห่งอยู่ในจุดอับ แสงแดดส่องไม่ถึง และจุดที่ 2 ที่จำเป็นอย่างมากคือ ห้องน้ำห้องส้วมของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ต้องสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น และมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วย โดยจะเชิญนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ร่วมประชุมหารือในวันที่ 27 มีนาคม 2551 เพื่อให้จังหวัดเร่งดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็ว นายไชยากล่าว ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ส่วนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยมากก็คือ ระบบการส่งต่อผู้ป่วย โดยใช้ระบบการรักษาผู้ป่วยทางไกลด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย หรือเทเลเมดดิซีน (Tele medicine) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาจากผู้เชี่ยวชาญได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลใหญ่หลายครั้ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับความร่วมมือจาก โครงการการคมนาคมเพื่อการแพทย์และการสาธารณสุข ของการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ติดตั้งเทเลเมดดิซีนที่โรงพยาบาลเกาะยาว จ.พังงา นำร่องแห่งแรก เพื่อบริการประชาชนที่อยู่บนเกาะให้ได้รับความสะดวก เนื่องจากการเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ลำบากมาก ต้องเสียค่าเช่าเหมาเรือประมาณเที่ยวละ 3,000-5,000 บาท โดยติดตั้ง 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเกาะยาว ศูนย์แพทย์ชุมชนเกาะยาวใหญ่ สถานีอนามัยเกาะปันหยี เชื่อมเครือข่ายกับโรงพยาบาลพังงาและโรงพยาบาลตะกั่วป่า ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาและวางแผนการรักษา ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2550 นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้น้อมเกล้าฯ รับเรื่องการพัฒนาระบบการส่งต่อโดยการปรึกษาทางไกลภายใต้ระบบเทเลเมดดิซีน มาดำเนินการโดยเร็ว โดยได้ประสานงานกับศูนย์โทรคมนาคมแล้ว ขณะนี้ได้ติดตั้งระบบโทรศัพท์ในโรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย เชื่อมกับโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางในเรื่องปัญหาที่เกี่ยวข้องแล้วประมาณ 3,000 เครื่อง จะขยายไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดน 30 จังหวัดด้วย สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบเทเลเมดดิซีน ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ จอภาพ กล้องดิจิตอล เครื่องมือตรวจตา เครื่องตรวจผิวหนัง เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องฟังเสียงหัวใจ/ปอด ซึ่งใช้งบประมาณลงทุนเครื่องละประมาณ 1.2 ล้านบาท แพทย์สามารถสื่อสารโต้ตอบกันได้ หรืออาจส่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต จากนั้นแพทย์เฉพาะทางจะนัดผู้ป่วยไปทำการผ่าตัดรักษา ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปตรวจหลายรอบ จากการประเมินผลพบว่าได้ผลดี ลดรายจ่ายและลดความเสี่ยงในการเดินทาง โดยเฉพาะในรายที่เป็นโรคตาต้อกระจก สามารถป้องกันตาบอดได้ ******************************* 13 มีนาคม 2551


   
   


View 6       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ