โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์น้ำท่วมได้ส่งผลกระทบสุขภาพจิตประชาชนร้อยละ 10 โดยพบมีผู้ประสบภัยมีความเครียด นอนไม่หลับเกือบ 9,000 ราย ยังไม่มีรายใดอาการรุนแรงถึงขั้นนอนโรงพยาบาล แนะวิธีการป้องกันปัญหา หากผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ปัญหาจะคลี่คลายลงได้มาก
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมขณะนี้ ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการรักษาพยาบาล ทั้งด้านการเจ็บป่วยทั่วไป และดูแลด้านสุขภาพจิตอย่างเต็มที่ ตลอดกว่า 1 เดือนมานี้ หน่วยแพทย์ออกปฏิบัติการทั้งหมด 700 ครั้ง มีผู้รับบริการทั้งหมด 90,000 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ผื่นคัน ไข้หวัด โดยพบประชาชนมีความเครียด นอนไม่หลับ 8,840 รายหรือประมาณร้อยละ 10 ของผู้ประสบภัย ยังไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการเครียดรุนแรงจนถึงขั้นต้องรักษาในโรงพยาบาล
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ความเครียดสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อคนเรารู้สึกว่าถูกคุกคามร่างกาย ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นขณะนี้นับเป็นภาวะคุกคามหนึ่ง ที่ทำให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัยเกิดความเครียด ทั้งจากการถูกตัดขาดจากภายนอก ไม่ได้รับข่าวสารหรือความช่วยเหลือ ทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดี สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง รวมทั้งการที่ทุกฝ่ายแสดงน้ำใจช่วยเหลือกัน ก็จะช่วยผ่อนคลายปัญหานี้ลงได้มาก โดยผู้ที่มีความเครียดอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ใช้เวลาปรับตัวประมาณ 2 สัปดาห์จนถึง 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่ประสบความสูญเสียอย่างหนัก เช่น ญาติ พี่น้องหรือคนในครอบครัวเสียชีวิต ขอให้ผู้ที่อยู่ด้วยช่วยกันเฝ้าระวัง ดูแลจิตใจอย่างใกล้ชิด เป็นเพื่อนพูดคุย อย่าปล่อยให้อยู่ลำพัง และหากมีอาการผิดปกติ เช่น เศร้าซึมมาก สามารถขอรับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลสวนปรุง โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ ศูนย์พัฒนาการเด็กภาคเหนือ และศุนย์สุขภาพจิตเขต เป็นหน่วยงานหลักที่จะดูแลปัญหาด้านสุขภาพจิตของประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพื้นที่ และได้สำรองทีมของโรงพยาบาลศรีธัญญา ไว้สำหรับออกปฏิบัติงานเสริมหากบุคลากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอด้วย ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่ขณะนี้คือ นอนไม่หลับร่วมกับโรคทางกาย เช่น น้ำกัดเท้า บาดแผล ผื่นคัน ยังไม่พบผู้ที่มีภาวะเครียดรุนแรง แต่จะติดตามประเมินด้านสุขภาพจิตเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
********************************************* 4 ตุลาคม 2549
View 11
04/10/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ