อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนกข่าวไข้กระต่ายจนเกินเหตุ กระต่ายไม่ได้มีเชื้อโรค ทูลาเรเมียทุกตัว สามารถเลี้ยงไว้ดูเล่นได้ แต่ต้องแยกเลี้ยงให้เป็นสัดส่วน และดูแลความสะอาดกรงเลี้ยง ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ หากสัตว์ป่วยต้องพาไปพบสัตวแพทย์รักษา นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเกี่ยวกับโรคทูลาเรเมีย (Tularemia) หรือโรคไข้กระต่าย ว่า หลังมีการเปิดเผยข่าวพบผู้ป่วยรายแรกของประเทศไทย ส่งผลให้ผู้ที่ชอบเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ เช่น กระต่าย หนู กระรอก บางรายเกิดความวิตกกังวล ซึ่งอาจจะนำไปสู่การนำสัตว์ไปปล่อย เหมือนสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่เคยเป็นที่นิยมมาก่อน เช่น อีกัวน่า ปลาซัคเกอร์หรือปลาเทศบาล กลายเป็นปัญหาต่อระบบนิเวศน์ในอนาคตได้ นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า โรคทูราเรเมีย เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ ฟรานซิสเซลลา ทูลาเรนซิส (Francisella Tularensis) มักพบผู้ป่วยในประเทศทางอเมริกาเหนือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป โดยสัตว์รังโรคส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ฟันแทะ เชื้อติดต่อสู่คนได้หลายทาง ได้แก่ ติดต่อผ่านแมลงพาหะ เช่น หมัดหรือแมลงดูดเลือดกัดสัตว์รังโรคที่มีเชื้อนี้อยู่แล้วมากัดคน การสัมผัสกับสารคัดหลังของสัตว์รังโรค ติดต่อทางการหายใจหรือการกิน ซึ่งอาการแสดงขึ้นกับช่องทางที่ได้รับเชื้อ โดยถ้าเชื้อโรคเข้าทางผิวหนังหรือบาดแผล จะทำให้เกิดแผลเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ถ้าได้รับเชื้อทางการหายใจ จะมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ไอ ปอดบวมและโลหิตเป็นพิษ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังเลี้ยงสัตว์ฟันแทะอยู่ หรือคิดที่จะเลี้ยงสัตว์ฟันแทะ ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลจน เกินเหตุ แต่ขอให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยหากตัดสินใจที่จะเลี้ยงสัตว์ประเภทนี้ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่ไม่มีสัตว์ป่วยในกรงหรือคอกที่เลี้ยง ไม่มีอาการเซื่องซึม ไม่ปราดเปรียว เป็นต้น ในการเลี้ยงจะต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาด ทั้งตัวสัตว์ บริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์ รวมทั้งอาหารที่นำมาเลี้ยงสัตว์ ที่สำคัญ ไม่ควรคลุกคลี กอดหรือหอมสัตว์โดยตรง และต้องล้างมือทำความสะอาดทันทีทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์ โดยเฉพาะหากมีบาดแผลที่มือ นอกจากนี้ ต้องรู้จักสังเกตลักษณะของสัตว์ที่เลี้ยง หากมีอาการผิดปกติ หรือดูเหมือนป่วย ควรพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็ว ก็จะช่วยให้ผู้เลี้ยงปลอดภัยจากโรคต่างๆ ที่อาจติดมากับสัตว์เลี้ยงได้ นายแพทย์ธวัช กล่าวต่ออีกว่า สำหรับผู้ป่วยที่พบรายแรกของไทยนั้น อยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเพศหญิง อายุ 37 ปี มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ไอ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ปัสสาวะขัด ต่อมาเจ็บหน้าอก ชักเกร็ง และเสียชีวิต ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อจากช่องทางใด และยังไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม มีนาคม ****************************** 18 มีนาคม 2551


   
   


View 8    18/03/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ