“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 97 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางกรอบแนวทางพร้อมจัดทำคู่มือ 6 มิติ ตามข้อเสนอองค์การเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติและองค์กรภาคี เตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด 19
วันนี้ (29 พฤษภาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตรการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดทำคู่มือเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนของสถานศึกษา ตามที่องค์การเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติและองค์กรภาคี ได้เสนอกรอบแนวทาง 6 มิติ เชื่อมโยงกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) (ศบค.) เพื่อคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของนักเรียน
พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า รายละเอียดประเด็นสำคัญในแต่ละมิติ ประกอบด้วย มิติด้านความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อโรค มีมาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ จัดระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร ทำความสะอาดห้องเรียน/พื้นผิวสัมผัสร่วม เปิดหน้าต่างประตู ระบายอากาศ ไม่จัดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เหลื่อมเวลา ลดเวลาทำกิจกรรม มิติด้านการเรียนรู้ จัดหาสื่อให้ความรู้การป้องกันโรคโควิด 19 เตรียมพร้อมการเรียนรู้ตามวัยและพัฒนาการ สร้างความเข้มแข็งระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การจัดการความเครียด รับมือกับการเปลี่ยนแปลง มิติด้านการครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส เด็กพิเศษ เด็กในพื้นที่ห่างไกล จัดหาอุปกรณ์ล้างมือและหน้ากากผ้าให้เพียงพอ ปรับรูปแบบการเรียนการสอน รวมทั้งให้ได้รับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง มีมาตรการดูแลนักเรียนที่มีความบกพร่องด้านพัฒนาการการเรียนรู้ มิติด้านสวัสดิภาพและการคุ้มครอง เตรียมแผนรองรับการเรียนสำหรับนักเรียนป่วย กักตัว หรือกรณีปิดสถานศึกษา แนวปฏิบัติการสื่อสารเพื่อลดการรังเกียจและการตีตราทางสังคม การจัดการความเครียดของครู ตรวจสอบประวัติเสี่ยงบุคลากร/นักเรียน มิติด้านนโยบาย ชี้แจงคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งคณะทำงานรับผิดชอบ และกำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจน มีแผนงานโครงการรองรับ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ครู บุคลากร ผู้ปกครอง และนักเรียนให้มีทักษะการป้องกันโรค สถานศึกษาประเมินตนเองเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนผ่านระบบออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการ/ Thai STOP COVID กรมอนามัย เสริมสร้างวัคซีนชุมชนในสถานศึกษา และมิติด้านการบริหารการเงิน พิจารณาการใช้งบประมาณของสถานศึกษาในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 ตามความจำเป็นและเหมาะสม จัดหาวัสดุอุปกรณ์ป้องกันโรค
“ขอเน้นย้ำหลักปฏิบัติ 6 ข้อในสถานศึกษา ทั้งการคัดกรองวัดไข้ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทำความสะอาด และลดแออัด เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ปลอดภัย” แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าว
นอกจากนี้ ได้จัดทำแนวปฏิบัติการจัดการหอพักนักเรียนประจำ โดยผู้ดูแลหอพัก นักเรียนในหอพัก ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เน้นการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง ห้องส้วม จัดห้องนอน ห้องอาหาร เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร เปิดประตูหน้าต่าง ห้องพัก ระบายอากาศทุกวัน และมีการกำกับติดตาม
**************************************** 29 พฤษภาคม 2563