มูลนิธิโรคข้อฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลศรีวิชัย 3 และสมาคมนักประดิษฐ์แห่งประเทศไทย เปิดรักษาผู้ป่วยโรคนิ้วล็อค 54 รายโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อถวายเป็น พระราชกุศล เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แพทย์ชี้กลุ่มเสี่ยงโรคนี้มีหลายอาชีพ ทั้งแม่บ้าน ครู หมอฟัน หมอนวดแผนโบราณ พนักงานคอมพิวเตอร์ แนะการป้องกันโรคนิ้วล็อค อย่าใช้นิ้วหิ้วของหนักนานๆ หรือใส่ถุงมือเพื่อลดแรงกดเยื่อหุ้มเส้นเอ็น เช้าวันนี้ (2 เมษายน 2551) ที่อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วัฒนา ประธานมูลนิธิโรคข้อ ในพระ ราชูปถัมถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานเปิด “การรักษาโรคนิ้วล็อค เฉลิม พระเกียรติ” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโดยมูลนิธิโรคข้อฯ กระทรวงสาธารณสุข คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลศรีวิชัย 3 และสมาคมนักประดิษฐ์แห่งประเทศไทย มีบริการให้คำปรึกษาโรคข้อทั่วไปแก่ประชาชนโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในวันนี้ได้ให้การรักษาผู้ป่วยโรคนิ้วล็อค จำนวน 54 ราย โดยไม่ต้องผ่าตัด และไม่คิดค่าใช้จ่าย นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า โรคนิ้วล็อค หรือโรคนิ้วเหนี่ยวไกปืน (Trigger Finger) เกิดจากการอักเสบของเยื้อหุ้มเส้นเอ็นที่มีหน้าที่งอเหยียดนิ้ว ซึ่งอยู่ที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว และเกิดการหนาตัวขึ้น ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนตัวลำบาก และมีการเสียดสี ทำให้เกิดอาการปวดหรือติดล็อคได้ โดยผู้ป่วยจะกำมือ งอนิ้วได้ แต่เหยียดนิ้วออกไม่ได้ครบทุกนิ้ว เหมือนโดนล็อคไว้ อาจจะเป็น 2 หรือ 3 นิ้วพร้อมกัน บางรายอาจมีอาการเจ็บนิ้วเวลางอนิ้วหรือกำมือ หรืออาจเหยียดนิ้วได้ไม่สุด ส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรงหลังตอนตื่นนอนเช้าหรือช่วงที่มีอากาศเย็น โรคนิ้วล็อคนี้ เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย พบในผู้หญิงร้อยละ 80 ในกลุ่มอายุ 50-60 ปี ส่วนผู้ชายพบร้อยละ 20 ในกลุ่มอายุ 40-70 ปี สาเหตุของโรคเกิดจากการใช้มือมากเกินไป หรือใช้นิ้วผิดวิธีและใช้ซ้ำๆ กัน นิ้วที่พบปัญหาล็อคบ่อยที่สุดคือ นิ้วหัวแม่มือและนิ้วนาง ส่วนอาชีพที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อค และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ แม่บ้านที่ต้องหิ้วของหนักๆ การซักผ้าด้วยมือแล้วบิดผ้าแรงๆ คนสวนที่ตัดแต่งกิ่งไม้ ช่างไฟฟ้า หมอนวดแผนโบราณ พนักงานพิมพ์คอมพิวเตอร์ คนหิ้วสินค้าเร่ขาย ช่างตัดเสื้อ ช่างทำผม นักกอล์ฟ นักแบดมินตัน ทันตแพทย์ ครู เป็นต้น การป้องกันควรหลีกเลี่ยงการใช้งานมือและนิ้วอย่างหนักและซ้ำๆ หากต้องหิ้วถุงหนักๆ ควรให้หูหิ้วอยู่ในฝ่ามือ มีผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดหน้ารอง อย่าหิ้วหนักและหิ้วนานๆ การทำสวน ขุดดิน ควรใช้ถุงมือ อย่าฝืนใช้มือจนเมื่อยล้า หยุดพักเป็นระยะๆ อย่าเขียนหนังสือนานๆ อย่าบิดผ้าอย่างรุนแรง นักกอล์ฟควรใส่ถุงมือ เพื่อลดแรงกดที่เยื่อหุ้มเส้นเอ็น ด้านนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วัฒนา ประธานมูลนิธิโรคข้อ ในพระราชูปถัมถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การรักษาโรคนิ้วล็อคในปัจจุบันมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็น หากเป็นในระยะเริ่มแรก คือมีอาการปวดเวลางอหรือเหยียดนิ้วหรือกำมือไม่คล่อง ควรพักการใช้งานมือ ให้แช่น้ำอุ่นจะบรรเทาอาการได้ หรือพบแพทย์เพื่อฉีดยาสเตียรอยด์ หากเป็นระยะรุนแรงจนนิ้วติดล็อค เหยียดไม่ออก งอนิ้วไม่เข้า นิ้วแข็งบวม เจ็บปวด รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดโดยใช้ “เครื่องมือทำฟัน” เจาะรูเล็กๆ ที่มือเพื่อสะกิดปลอกที่รัดเส้นเอ็นไว้ให้คลายตัว ไม่ต้องผ่าตัด โดยแพทย์จะฉีดยาชาที่มือ ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ก็เสร็จ หลังจากนั้นปิดแผลไว้ 7 วัน ใช้มือทำงานได้ตามปกติ ขณะนี้เทคนิคการผ่าตัดดังกล่าวแพร่หลายมากขึ้น สามารถผ่าตัดได้ในโรงพยาบาลจังหวัดสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยทั่วไปหากผ่าตัดรักษาในโรงพยาบาลภาครัฐจะเสียค่าใช้จ่ายรายละ 2,000 บาท หากรักษาในภาคเอกชนราคาประมาณ 10,000 บาท ส่วนผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รักษาฟรี นายแพทย์พงษ์ศักดิ์กล่าว ************************************ 2 เมษายน 2551


   
   


View 7    02/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ