ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิต พยายามฆ่าตัวตายหนีปัญหา ปี 2548 มีถึง 27,1000 คน และสำเร็จ 3,941 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว โดยผลวิจัยล่าสุดพบผู้ที่ฆ่าตัวตายร้อยละ 90 มีปัญหาทางจิต มากที่สุดคือโรคซึมเศร้า ติดเหล้า แนะคนไทยดูแลสุขภาพจิตตัวเองและคนรอบข้าง อย่าหมักหมมปัญหาคาใจ หรือดับทุกข์ด้วยการดวดเหล้า-พึ่งสารเสพติด ควรปรึกษาจิตแพทย์เยียวยาหรือหาทางออก นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมวางพวงมาลา เนื่องในวันอนุสรณ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ของไทย ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เมื่อเช้าวันนี้ ว่า ในวันที่ 10 ตุลาคม 2549 องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ในปีนี้ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยกำหนดคำขวัญรณรงค์ว่า สร้างความตระหนักและลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยทางจิตและการฆ่าตัวตาย (Building Awareness Reducing Risk : Mental Illness and Suicide) นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาการฆ่าตัวตาย องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายปีละประมาณ 1 ล้านคน หรือตาย 1 คนทุก 40 วินาที โดยมีผลวิจัยล่าสุดพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่เสียชีวิตจาการฆ่าตัวตาย มีโรคทางจิตแอบแฝงอย่างน้อย 1 โรค ที่ไม่ได้รับการตรวจรักษาหรือ มีปัญหามาจากการติดเหล้า ติดสารเสพติด การที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้มีวันสุขภาพจิตโลกขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญของปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตกับเรื่องฆ่าตัวตาย เพื่อยกระดับความเข้าใจ ว่าปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตขณะนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องรองจากทางกายอีกต่อไป หากไม่ช่วยกันป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และปล่อยให้อาการกำเริบเข้าสู่โรคทางจิตโดยไม่รักษาดูแล อาจทำให้เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในที่สุดได้ ด้านนายหม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตของประเทศไทยล่าสุดในรอบ 4 ปีมานี้ มีคนไทยร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 มีปัญหาสุขภาพจิต โดยผู้ป่วยทางจิตที่เข้ารักษาในสถานพยาบาลทั่วประเทศ ในปี 2548 มี 997,604 คน แยกเป็น ผู้ป่วยโรคจิตเภท 335,202 ราย โรควิตกกังวล 347,608 ราย โรคซึมเศร้า 72,864 ราย ติดสุราสารเสพติด 69,282 ราย และสุขภาพจิตอื่นๆ อีก172,648 ราย นอกจากนี้ ในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายปีละประมาณ 4,500-5,500 คน หากนับทั้งจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จและไม่สำเร็จจะมีมากถึง 25,000-27,000 คน ต่อปี พบสูงสุดในวัยหนุ่มสาวอายุ 25-29 ปี โดยผู้ชายมีอัตราฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่าตัว ในขณะที่ต่างประเทศจะพบในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า ภาคเหนือมีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุด พบแสนละ 14 คน ภาคใต้ต่ำที่สุดแสนละ 6 คน ทั้งนี้พบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จร้อยละ 90 มีโรคทางจิตร่วมด้วย ส่วนใหญ่ได้แก่ โรคซึมเศร้า และใช้แอลกอฮอล์หรือทั้ง 2 อย่างร่วมกัน อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่ออีกว่า ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ไม่ควรเก็บปัญหาไว้คนเดียว ควรระบายปัญหาออก เช่น อาจปรึกษาผู้ที่ไว้วางใจที่สุด เพื่อหาทางออก ไม่ควรใช้สารเสพติดดับทุกข์ เนื่องจากจะทำให้เกิดการเสพติด ครอบครัวต้องช่วยกันดูแลสมาชิกในครอบครัว และควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที จะสามารถคลี่คลายปัญหาสุขภาพจิตได้ดีมาก โดยร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ทำให้หลับสนิททุกวัน ***************************************** 9 ตุลาคม 2549


   
   


View 10    09/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ