ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนสวมแว่นตากันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง หรือกลางแดดจัด ป้องกันสายตาถูกทำลายจากรังสีอุลตร้าไวโอเลต เป็นตัวเร่งให้เกิดตาต้อกระจกเร็วขึ้น แนะเลนซ์ของแว่นกันแดดที่เหมาะสมและได้ผลดีควรมีสีเข้ม เช่น สีชา สีดำ ส่วนเลนส์สีฉูดฉาดไม่แนะนำ เพราะไม่มีผลต่อการป้องกัน
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศไทยร้อนจัดขึ้น แดดแรงมาก ประชาชนจะต้องระมัดระวัง เนื่องจากในแสงอาทิตย์ จะมีรังสีอัลตราไวโอเลตหรือที่เรียกกันว่าแสงยูวี ซึ่งตามปกติแล้วร่างกายเราต้องถูกแดดบ้าง โดยเฉพาะแสงแดดในตอนเช้า เพื่อให้ยูวีกระตุ้นการสร้างวิตามินดี ป้องกันโรคกระดูกอ่อน กระดูกผุ และกระดูกพรุน แต่หากได้รับรังสีดังกล่าวมากไป นอกจากจะทำให้ผิวไหม้ ผิวเหี่ยวย่นแล้ว ยังทำให้เป็นโรคตาต้อกระจกได้ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งยังทำให้เกิดต้อเนื้อและอาการป่วยอื่น ๆ ได้
ทั้งนี้ ยูวีเป็นรังสีที่มองไม่เห็นและไม่สามารถรู้สึกได้ สภาพภูมิประเทศที่เป็นหิมะ ทรายและทะเล จะสะท้อนยูวีที่มาจากแสงอาทิตย์ต่างกัน โดยพื้นที่ชายหาดสามารถสะท้อนแสงยูวีได้ 15 เปอร์เซนต์ ส่วนชั้นโอโซนที่บางลงทำให้ยูวีผ่านลงมายังพื้นโลกมากขึ้น ปริมาณยูวีที่ผ่านมาถึงพื้นโลกยังขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของวัน และปริมาณเมฆหมอกในท้องฟ้า ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ประชาชนทุกวัย สวมแว่นตากันแดดทุกครั้งที่อยู่ในที่มีแสงแดดจ้า เพื่อป้องกันอันตรายต่อตา เพราะหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตาทั้งที่เกิดภายนอกและภายในลูกตา จะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การเลือกซื้อแว่นตากันแดด ประชาชนสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด ซึ่งมีวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก มีหลายราคา โดยในการเลือก จะต้องเลือกเลนซ์แว่นที่ทึบแสง มีสีชา สีฟ้า สีดำ สวมแล้วสบายตา เดินแล้วไม่มึนงง ไม่แนะนำให้ใส่แว่นที่มีเลนส์สีฉูดฉาดในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากไม่มีผลในการป้องกันรังสียูวี ซึ่งการใส่แว่นป้องกันแสงยูวีนี้ จะสามารถชะลอการเกิดโรคตาต้อกระจกได้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ตาบอดมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์
************************ 6 เมษายน2551
View 7
06/04/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ