• กระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้ง “วัน อยู่บำรุง” เป็นมิสเตอร์ทอยเล็ตคนแรกของไทย นำการรณรงค์สร้างจิตสำนึกสาธารณะและพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้องให้คนไทย เริ่มต้นเทศกาลสงกรานต์นี้ ลดการแพร่โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะอุจจาระร่วง ซึ่งตั้งแต่มกราคมถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยแล้วเกือบ 3 แสนราย ตาย 46 ราย เช้าวันนี้ (9 เมษายน 2551) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดรณรงค์ “รับสงกรานต์ด้วยส้วมสะอาด เมื่อนั่งและราดให้ถูกวิธี” ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ว่า ส้วมเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นอย่างหนึ่งในชีวิต เนื่องจากใช้ในการกักเก็บของเสียที่ขับถ่ายออกจากร่างกาย ซึ่งหากผู้ใช้ส้วมมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ส้วมจะกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคชั้นดี ทั้งการแพร่เชื้อโดยตรงทางการสัมผัส หรือแพร่เชื้อทางอ้อมผ่านน้ำ ดิน และสัตว์หรือแมลงนำโรค ยิ่งเป็นส้วมสาธารณะซึ่งมีคนใช้จำนวนมาก โอกาสที่จะแพร่กระจายเชื้อยิ่งมีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน โรคที่เป็นปัญหาสำคัญได้แก่ อุจจาระร่วง ตั้งแต่มกราคม-8 เมษายน 2551 พบผู้ป่วยแล้ว 291,650 ราย เสียชีวิต 46 ราย ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงใช้โอกาสช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวกันมาก เริ่มต้นรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้องและมีจิตสำนึกต่อสาธารณะ “เพื่อให้การรณรงค์เรื่องส้วมเป็นไปอย่างเข้มแข็งและมีความต่อเนื่อง จึงได้แต่งตั้งให้ นายวัน อยู่บำรุง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็น มิสเตอร์แฮปปี้ทอยเล็ต (Mr. Happy Toilet) คนแรกของประเทศ ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการรณรงค์และกระตุ้นให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง และช่วยกันรักษาความสะอาดส้วมสาธารณะให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน คือ สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย” นายชวรัตน์ กล่าว ด้านนายแพทย์ประเสริฐ หลุยเจริญ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้บริการส้วมสาธารณะ ในปี 2549 พบว่า ประชาชนยังมีพฤติกรรมในการใช้ส้วมที่ไม่ถูกต้อง 4 ประการ ได้แก่ ไม่ล้างมือหลังการใช้ส้วม ร้อยละ 52.9 ทิ้งวัสดุที่ไม่ใช่กระดาษชำระลงโถส้วม ร้อยละ 21.7 ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมชักโครก ร้อยละ 17 และไม่ราดน้ำหลังใช้ส้วม ร้อยละ 5.1 ส่วนสถานการณ์ส้วมสาธารณะ จากการสำรวจทั่วประเทศถึงเดือนมีนาคม 2551 พบผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือ สกปรก รองลงมาคือ ถังขยะไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีกระดาษชำระหรือสายฉีดน้ำ และไม่มีสบู่สำหรับล้างมือไว้ให้บริการ นายแพทย์ประเสริฐ กล่าวต่อว่า กรมอนามัยมีแผนที่จะพัฒนาส้วมสาธารณะทั่วประเทศให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน รณรงค์ทั้งในด้านผู้ประกอบการ ผู้ดูแลความสะอาดส้วมสาธารณะ และประชาชนผู้ใช้ส้วม ให้มีการใช้ส้วมที่ถูกวิธี นอกจากนี้ ยังนำร่องพัฒนาต้นแบบจังหวัดส้วมสะอาดที่ชุมพร โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนส้วมสาธารณะในจังหวัดให้ได้มาตรฐานจากร้อยละ 20.3 เป็นร้อยละ 90 ภายในเดือนกันยายน 2551 นี้ จากนั้นจะขยายผลไปในจังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อม โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ ********************************* 9 เมษายน 2551


   
   


View 7    09/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ