สาธารณสุขเตรียมแผนรับมือ 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลสงกรานต์ เน้นการป้องกันในระดับหมู่บ้าน การควบคุมการขายเหล้า และการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ สั่งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ วันละกว่า 6,000 คน พร้อมหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินกว่า 4,000 ทีม เตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ส่งอสม.กว่า 8 แสนคน รณรงค์อุบัติเหตุในหมู่บ้านและถนนสายรอง และตลอด 5 วันเทศกาล ได้จัดผู้บริหารระดับสูงเดินสายตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ วันนี้ (11 เมษายน 2551) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพฯ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังร่วมเปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2551 ว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากกว่าช่วงปกติถึง 2 เท่าตัว มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการดื่มเหล้า เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา พบผู้บาดเจ็บรุนแรงที่ขี่มอเตอร์ไซค์มีสัดส่วนดื่มสุราสูงที่สุด ร้อยละ 46 กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่รองรับปัญหาปลายเหตุ เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลทำงานกันอย่างหนัก เสียสละวันหยุด 5 วัน เพื่อดูแลผู้เจ็บป่วย ซึ่งแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรกว่า 13,000 คน บาดเจ็บเฉลี่ยชั่วโมงละกว่า 100 คน มีผู้พิการเพิ่มขึ้นปีละ 16,000 คน ในการรับมือ 7 วันอันตรายช่วงฉลองเทศกาลสงกรานต์ ระหว่าง 11-17 เมษายน 2551 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อม โดยเน้นหนัก 3 มาตรการ คือ การป้องกันในระดับหมู่บ้าน การควบคุมการขายเหล้า และระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ ได้สั่งการให้โรงพยาบาลกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มกำลังแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุประจำห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ปฏิบัติงาน วันละกว่า 6,000 คนทั่วประเทศ สำรองคลังเลือดอีก 2 เท่าตัว ให้ทุกแห่งสำรองเตียงร้อยละ 30 เพื่อรับมืออุบัติเหตุตลอด 24 ชั่วโมง และได้เตรียมทีมกู้ชีพฉุกเฉินมืออาชีพกว่า 4,000 ทีม พร้อมรถฉุกเฉิน เครื่องมือช่วยชีวิต ให้พร้อมออกไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ รวมทั้งการป่วยฉุกเฉินอื่นๆ ด้วย โดยเปิดสายรับแจ้งเหตุทาง 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง หลังวางสาย ทีมกู้ชีพจะเดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10-15 นาที “ได้สั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข เดินสายตรวจเยี่ยม ติดตามปัญหาอุปสรรคและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บของสถานพยาบาลต่างๆ ทั้ง 4 ภาค โดยผมจะเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรีในวันที่ 13เมษายน 2551 และจังหวัดราชบุรีในวันที่ 14 เมษายน 2551 ส่วนภาคอื่นได้มอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขดูแล” นายไชยากล่าว นายไชยา กล่าวต่อว่า สำหรับการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดบนถนนสายรองในอำเภอและหมู่บ้าน ในปีนี้ได้ขอความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 8 แสนคนทั่วประเทศ เคาะประตูบ้าน 20 ล้านครัวเรือน รณรงค์เตือนสติชาวบ้านดื่มแล้วต้องไม่ขับ และให้ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในการป้องกันอุบัติเหตุ คือ เมาไม่ขับ สวมหมวกกันน็อคทุกครั้งเมื่อขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ พกใบขับขี่ คาดเข็มขัดนิรภัยและไม่ขับรถเร็ว และให้ช่วยดูแลผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉินในเบื้องต้น เช่น การดามกระดูก การห้ามเลือด ระหว่างรอทีมกู้ชีพฉุกเฉินเดินทางไปถึง รวมทั้งช่วยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ลดการดื่มเหล้าฉลองสงกรานต์ ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุ และเข้มงวดไม่ให้ขายเหล้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือบุคคลที่อยู่ในอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ซึ่งสงกรานต์ปีที่ผ่านมาพบมีการกระทำผิดขายสุราในเวลาห้ามขายร้อยละ 26 เมษายน ****************************** 11 เมษายน 2551


   
   


View 7    11/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ