รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาเมาแล้วขับ ชี้เสี่ยงสูงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงถึง 2-40 เท่าตัว โดยหากมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50-150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง 8-33 เปอร์เซ็นต์ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นที่ยอมรับว่าสาเหตุของอุบัติเหตุจราจรที่เกิดในประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญหลักๆ กว่า 1 ใน 3 มาจากปัญหาการเมาสุรา โดยมีการศึกษาทางวิชาการว่า การดื่มสุราแล้วขับรถเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ 7 เท่าตัวของการไม่ดื่มสุรา และเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตเกือบ 10 เท่าตัวของผู้ไม่ดื่มสุรา นายไชยา กล่าวต่อไปว่า คนที่อยู่ในอาการมึนเมาสุรา อาจทำให้เกิดอาการตาพร่ามัวมองไม่เห็นชั่วขณะ ต้องใช้เวลาปรับตัวนานกว่าปกติถึง 5 วินาที ในขณะที่คนปกติใช้เวลาปรับตัว 3 วินาที ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 15-14 ปี โดยบาดเจ็บจากการชน 50 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ รถล้ม ทั้งนี้ หลังจากดื่มแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดและกระจายไปทั่วร่างกายภายใน 5 นาที และ มีผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะสมอง หากระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมี 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ความสามารถในการขับรถลดลง 8 เปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ 2 เท่าตัว หากระดับแอลกอฮอล์ 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ความสามารถในการขับขี่จะลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ โอกาสเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มเป็น 6 เท่าตัว และหากแอลกอฮอล์ในเลือดมี 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ความสามารถในการขับรถจะเหลือเพียง 1 ใน 3 โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 40 เท่าตัว สิ่งที่ต้องระวังคือการผสมเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของคาร์บอเนต เช่น น้ำอัดลม จะทำให้เมาเร็วขึ้น ****************************** 11 เมษายน 2551


   
   


View 7    11/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ