รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงอุบัติเหตุขากลับวันที่ 15 และ 16 เมษายน อาจเกิดขึ้นเพราะความง่วง เมาค้าง เตรียมแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลเจ้าหน้าที่กู้ชีพมืออาชีพรับมือกว่า 70,000 คน รับมือตลอด24 ชั่วโมง ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุขแนะ 8 สัญญานอันตราย หากมีอาการง่วงอย่าฝืนขับ ขอให้จอดรถงีบ แนะก่อนเดินทางกลับ 1 วัน ขอให้ประชาชนหยุดดื่มน้ำเมา พักผ่อนเต็มที่อย่างน้อย 8 ชั่วโมง นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข รองรับเทศกาลสงกรานต์ 11-17 เมษยน 2551 ว่า ตลอดวันที่ 14 เมษายน 2551 หน่วยแพทย์กู้ชีพได้รับแจ้งเหตุเจ็บป่วยทาง 1669 จำนวน 1,433 ครั้ง เฉลี่ยนาทีละ 1 สาย ออกปฎิบิตการช่วยเหลือยังที่เกิดเหตุจำนวน 2,900 ครั้ง เฉลี่ยนาทีละ 2 ทีม ในจำนวนนี้เป็นผู้บาดเจ็บจราจร 1,233 ครั้ง เจ็บป่วยกระทันหัน 1,191 ครั้ง ทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกัน 238 ครั้ง จมน้ำ 21 ครั้ง เหตุส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 60 เกิดในหมู่บ้าน นายไชยากล่าวต่อว่า สำหรับยอดสะสม 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 – 14 เมษายน 2551 หน่วยแพทย์กู้ชีพออกปฏิบัติการทั้งหมด 11,571 ครั้ง เฉลี่ยนาทีละ 2 ครั้ง โดยเป็นผู้บาดเจ็บจราจร 5,222 ครั้ง เจ็บป่วยกระทันหันเช่นหมดสติ ความดันโลหิตสูง หัวใจวาย น้ำตาลในเลือดต่ำ จำนวน 4,639 ครั้ง บาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาทกันรวม 846 ครั้ง ฆ่าตัวตาย 73 ครั้ง จมน้ำ 48 ครั้ง โดยการออกปฏิบัติการกู้ชีพมากที่สุดในวันที่ 13 เมษายน จำนวน 3,290 ครั้ง เฉลี่ยนาทีละเกือบ 3 ครั้ง ซึ่งในช่วงขากลับฉลองสงกรานต์ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมทีมรองรับการช่วยเหลือเต็มที่ ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2551 เป็นต้นไป โดยมีทีมกู้ชีพทั้งหมด 5791 ทีม ประกอบด้วยทีมกู้ชีพประจำหมู่บ้านและตำบลต่างๆ 3,639 ทีม ประจำอำเภอ จังหวัดอีก 2,152 ทีม มีบุคลากรมืออาชีพทั้งหมด 72,560 คน ทั้งแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาต่างๆเกือบ 1,500 คน พยาบาล 15,756 คน เจ้าหน้าที่กู้ชีพอีก 55,384 คน รับมือเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง ประชาชนสามารถโทรขอความช่วยเหลือที่หมายเลข 1669 ฟรี ซึ่งที่ผ่านมาหลังได้รับโทรศัพท์ ทีมกู้ชีพจะถึงที่เกิดเหตุใน 10 นาทีมากกว่าร้อยละ 70 ช่วยให้อัตรารอดชีวิตมากขึ้น ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในวันที่ 15-16 เมษายน 2551 ประชาชนที่ไปเที่ยวฉลองในเทศกาลสงกรานต์ จะเริ่มทะยอยเดินทางกลับ จะมีความเสี่ยงต่ออาการง่วง หลับใน โดยมีสาเหตุอย่างน้อย 2 สาเหตุคือ พักผ่อนไม่เพียงพอ และจากอาการเมาค้าง เพราะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้สมองตื้อ อ่อนเพลีย หากเป็นคนขับรถจะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุง่ายขึ้น จึงขอเตือนประชาชนก่อนเดินทางกลับ ขอให้เตรียมตัวล่วงหน้า โดยพักผ่อนให้เต็มที่อย่างน้อย 8 ชั่วโมงเพื่อใช้หนี้ร่างกายหลังอดนอนสะสมมาหลายวัน และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดก่อนเดินทาง 1 วัน เนื่องจากสถิติอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ตลอด 4 วันมานี้ สาเหตุใหญ่ที่สุด เกือบครึ่งเกิดจากเมาสุรา นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า ผลของการง่วงนอนต่อการขับขี่รถ จะทำให้ประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง สมองตื้อ การติดสินใจผิดพลาด ใจลอย สมองสั่งการกล้ามเนื้อช้าลง เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันจึงแตะเบรคได้ช้ากว่าปกติ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุง่าย หากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แม้ว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดคือ50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ก็ตาม จะมีผลต่อการตัดสินใจ ช้ากว่าปกติ 2 เท่าตัว ทั้งนี้สัญญานเตือนของอาการง่วงนอน มี 8 ประการ ได้แก่ 1. หาวบ่อยและหาวต่อเนื่อง 2. ใจลอยไม่มีสมาธิ 3. รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด กระวนกระวาย 4. จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาเมื่อ 2-3 กิโลเมตรที่ผ่านมา 5. รู้สึกหนักหนังตา ตาปรือ ลืมตาไม่ขึ้น มองเห็นภาพไม่ชัด 6. รู้สึกมึน หนักศีรษะ 7. ขับรถส่ายไปส่ายมาหรือออกนอกเส้นทาง 8.มองข้ามสัญญานไฟและป้ายจราจร หากมีอาการเหล่านี้ ขอให้จอดรถแวะจอดรถในที่ปลอดภัย เพื่องีบหลับ อย่าฝืนขับหรือสลับให้คนอื่นขับแทนจะปลอดภัยกว่า ******************************* 15 เมษายน 2551


   
   


View 7    15/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ