รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมจิตแพทย์จากขอนแก่นดูแลสุขภาพจิตเด็กชายชัยยันต์ หรือน้องอ้น ซึ่งถูกลักพาตัวไปและถูกทำร้ายร่างกาย ด้านจิตแพทย์แนะครอบครัวและคนแวดล้อม ต้องช่วยกันให้กำลังใจเด็ก อย่าบังคับให้พูดถึงเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมา บ่ายวันนี้ (17 เมษายน 2551) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือ กรณีที่เด็กชายชัยยันต์ อุทัยแสง หรือน้องอ้น อายุ 9 ขวบ ถูกลักพาตัวไปจากครอบครัวตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา และถูกบังคับให้ขายของ หากไม่ได้ตามเป้าจะถูกทำร้ายร่างกาย จนมีร่องรอยบาดแผลเต็มตัว ว่า หลังทราบข่าวรู้สึกเป็นห่วงจิตใจของเด็กอย่างมาก เนื่องจากเด็กอายุยังน้อย จึงได้โทรศัพท์พูดคุยให้กำลังใจ และสั่งการไปยังกรมสุขภาพจิต ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจิตแพทย์ไปพบพ่อแม่เด็กที่อุดรธานี เพื่อให้พ่อแม่เด็กได้ทราบแนวทางในการดูแลเด็กให้ดีที่สุด ไม่ให้เด็กมีปมด้อย ลดผลกระทบด้านจิตใจให้เร็วที่สุด และให้ประสานงานกับตำรวจ เพื่อดูแลสุขภาพจิตของเด็กระหว่างมีการดำเนินการทางกฎหมายด้วย พร้อมทั้งมอบหมายให้นายวัน อยู่บำรุง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประสานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อติดตามเส้นทางของขบวนการค้าแรงงานเด็ก และนำไปสู่ดำเนินการอย่างเด็ดขาด สำหรับการดูแลสุขภาพจิตของเด็กรายนี้ ได้สั่งการให้โรงพยาบาลจิตเวชราชนครินทร์ขอนแก่น และศูนย์สุขภาพจิตขอนแก่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอกุมภวาปี จัดทีมสุขภาพ ประกอบด้วย จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ดูแลประเมินสภาพจิตใจของเด็กและวางแผนให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ จิตแพทย์กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในกรณีที่เด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาแล้ว พบว่าเด็กจะยังหวาดกลัวและฝังใจกับเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมา ครอบครัวตลอดจนคนแวดล้อม เช่น เพื่อนบ้าน ครู เพื่อนๆ ที่โรงเรียน ควรให้กำลังใจเด็ก ช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม ควรหลีกเลี่ยงการกดดันเพื่อซักถามถึงเหตุร้ายที่ผ่านมา เพราะจะยิ่งทำให้กระทบกระเทือนจิตใจและทำให้เด็กฝังใจมากขึ้น อาจส่งผลให้เด็กเกิดอาการซึมเศร้ามากขึ้น หรือจดจำพฤติกรรมร้ายและนำไปกระทำต่อคนอื่นเมื่อเป็นผู้ใหญ่ “กรณีเช่นนี้ สิ่งสำคัญผู้ปกครองจะต้องช่วยกันให้กำลังใจเด็ก หากไม่เด็กยังไม่อยากพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ก็อย่าบังคับให้พูด ขอให้รอจนกว่าเด็กจะมีความพร้อมทางจิตใจ และรู้สึกอยากบอกอยากเล่าเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้ระบายความรู้สึกที่เก็บกดไว้ออกมา เกิดความอบอุ่นและมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น” แพทย์หญิงอัมพรกล่าว เมษายน ******************************* 17 เมษายน 2551


   
   


View 6    17/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ