คณะผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารปลอดภัยอาเซียน ยกไทยเป็นแกนนำพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานร้านอาหารปลอดภัยในกลุ่มประเทศอาเซียน ล่าสุดในปี 2550 มีร้านอาหารและแผงลอยอาหารของไทยกว่าร้อยละ 70 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้านอาหารสะอาด ส่วนสารปนเปื้อนต้องห้ามในอาหาร 6 ชนิดลดลงพบเพียงร้อยละ 1 ในปี 2551 นี้ กระทรวงสาธารณสุขต่อยอดมาตรฐานร้านอาหารไทยสู่อินเตอร์ นำร่องพัฒนาร้านอาหาร 800 แห่ง เป็นต้นแบบร้านมาตรฐานในระดับอาเซียน ทั้งชนิดให้บริการเต็มรูปแบบ และฟาสท์ฟู๊ด เพื่อหนุนนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกให้ฉลุย
วันนี้ (21 เมษายน 2551) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดสัมมนาผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมภัตตาคารไทย ชมรมผู้ประกอบการและร้านอาหารทั่วประเทศกว่า 400 คน เพื่อมอบนโยบายในการพัฒนาระบบความปลอดภัยอาหารในประเทศไทย และการพัฒนาคุณภาพร้านอาหารและภัตตาคารของไทยสู่มาตรฐานอาเซียน รวมทั้งการยกระดับความสามารถในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ และการบริหารจัดการด้านอาหาร เครื่องดื่ม ให้มีความพร้อมแข่งขันในตลาดเสรี เพื่อหนุนนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก และเตรียมความพร้อมที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำอาเซียนด้านอาหารปลอดภัยในปลายปีนี้
นายชวรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อรณรงค์และเผยแพร่คุณภาพมาตรฐานอาหารของไทย ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ และสร้างมาตรฐานความปลอดภัยอาหารที่ผลิตและบริโภคในประเทศ ให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับสากล ลดการเจ็บป่วยจากอาหารไม่สะอาด นำไปสู่การเป็นครัวของโลก โดยมีการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การนำเข้า การผลิตระดับฟาร์ม การแปรรูป การจำหน่าย และการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคและผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจมาก เป็นที่ยอมรับของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารปลอดภัยของกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Expert Group on Food Safety) ซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา บรูไน มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ไทย ลาว สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งจากการประชุมเมื่อต้นปี 2551 ได้เสนอให้ประเทศไทยเป็นแกนนำในการจัดทำแนวทางและคู่มือการตรวจสอบและรับรองร้านอาหาร รวมทั้งแหล่งจำหน่าย เพื่อพัฒนาศักยภาพระบบความปลอดภัยด้านอาหารในร้านอาหาร และยกมาตรฐานของธุรกิจร้านอาหารและแหล่งจำหน่ายอาหารของกลุ่มประเทศอาเซียน
นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า ในการก้าวสู่การเป็นผู้นำร้านอาหารในระดับอาเซียน ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนให้สมาคมภัตตาคารไทย ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่เข้มแข็ง มีเครือข่ายร้านอาหาร ภัตตาคาร อยู่ทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง จัดทำโครงการพัฒนามาตรฐานร้านอาหารสู่มาตรฐานอาเซียน ตอกย้ำให้อาหารไทยเป็นที่นิยมทั่วโลก โดยตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอาหาร ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 7 หน่วยงาน ภาคธุรกิจร้านอาหาร เพื่อจัดทำร่างเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพร้านอาหาร 2 รูปแบบคือ ร้านอาหารที่บริการเต็มรูปแบบ และร้านอาหารที่บริการแบบสะดวกรวดเร็ว ทั้งระบบการจัดการคุณภาพ ระบบความปลอดภัยอาหาร มาตรฐานบริการ วัฒนธรรมและจริยธรรม และกลไกการรับรองมาตรฐานร้านอาหาร จากนั้นจะมีการจัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษารายธุรกิจอาหาร เพื่อพัฒนาตามมาตรฐานที่กำหนด ตามโครงการนี้จะเปิดให้ร้านอาหารภัตตาคารในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งกรุงเทพฯ สมัครเข้าร่วมพัฒนาเป็นร้านต้นแบบระดับอาเซียน จำนวน 800 แห่ง เพื่อขยายผลทั่วประเทศต่อไป ขณะเดียวกันจะให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดทำคู่มือการบริหารจัดการของแต่ละท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ ยังได้กล่าวเน้นถึงพระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.2551 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ จะกำหนดนโยบายอาหารปลอดภัยของประเทศไทย ที่ทุกภาคส่วนต้องนำไปปฏิบัติเพื่อดูแลให้อาหารปลอดภัย ตั้งแต่ฟาร์มถึงโต๊ะด้วย
ทางด้าน นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานความปลอดภัยด้านอาหาร ของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ล่าสุดในปี 2550 มีร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหาร ซึ่งทั่วประเทศมี 167,098 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโครงการร้านอาหารสะอาด รสชาติอร่อย ของกรมอนามัยและท้องถิ่นรวม 136,975 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 82 ผลการตรวจฝ้าระวังความปลอดภัยจากสารปนเปื้อนอันตรายในอาหารสดที่วางจำหน่ายในตลาดสดทุกแห่ง ได้แก่ สารเร่งเนื้อแดง สารกันรา สารฟอกขาว บอแรกซ์ ฟอร์มาลิน ยาฆ่าแมลง พบว่าลดลงเป็นที่น่าพอใจ จากภาพรวมพบร้อยละ 5 ในปี 2546 ลดลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 1 ในปี 2550 ส่วนการเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารนำเข้าในปี 2550 ทั้งหมด 22,223 รายการ พบข้อบกพร่องร้อยละ 4 เช่น ติดฉลากไม่ถูกต้อง ในส่วนของสถานที่ผลิตอาหารในประเทศซึ่งมีทั้งหมด 12,550 แห่ง ขณะนี้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการผลิตที่ดี หรือจีเอ็มพีแล้ว 12,441 แห่ง คาดว่าจะครบทุกแห่งในปี 2551 นี้
********************************** 21 เมษายน 2551
View 7
21/04/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ