กระทรวงสาธารณสุข ชี้รอบ 7 ปี ไทยมีผู้พิการเพิ่มขึ้น 8 แสนคน เฉลี่ยปีละกว่า 1 แสนคน ร้อยละ 98 มีปัญหาสุขภาพ ต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมาน มอบกรมการแพทย์จัดโรงหมอเคลื่อนที่ บริการผู้พิการและผู้สูงอายุถึงชนบทดูแลเป็นพิเศษฟรี ทั้งตรวจรักษาโรค ทำฟัน ตรวจตา มอบแว่นตา ทำแขนขาเทียม มอบอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุ เผยผลสำเร็จ 2 ปีที่ผ่านมาผู้รับบริการพึงพอใจการบริการสูง เฉลี่ยเกินร้อยละ 90 สามารถช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุแล้วกว่า 18,000 คน
เช้าวันนี้ (21 เมษายน 2551) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานเปิดงานโครงการ กรมการแพทย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบเบ็ดเสร็จปี 2551 ที่ซุ้มพุทธ มามกะ องค์พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม จัดโดยกรมการแพทย์ ให้บริการตรวจรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้พิการและผู้สูงอายุในทุกภาคอย่างครบวงจรต่อเนื่อง โดยมอบรถนั่งคนพิการ 120 คัน รถโยกมือ 30 คัน อุปกรณ์ช่วยการเดินกว่า 100 ชิ้น เครื่องช่วยฟัง 500 เครื่อง และแว่นตา 1,200 อัน
นายไชยา กล่าวว่า ขณะนี้ผู้พิการในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2550 พบว่า มีผู้พิการประมาณ 1.9 ล้านคนหรือเกือบร้อยละ 3 ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2544 ซึ่งมีประมาณ 1.1 ล้านคน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1 แสนคน อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 772,931 คน รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือ 518,624 คน ภาคกลาง 379,420 คน ที่เหลืออยู่ในภาคใต้ โดยอยู่ในชนบทมากกว่าเขตเมือง 2 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามอายุ มากที่สุดในกลุ่มอายุ 75 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 31 สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากโรคแทรกซ้อน ที่พบมากที่สุดคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คาดว่าปัญหาจะรุนแรงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น เฉลี่ยชาย 68 ปี และหญิง 75 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 3 6 ปี
ทั้งนี้ พบว่าในกลุ่มผู้พิการ จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพสูงกว่าคนทั่วไป ประมาณ 10 เท่าตัว เนื่องจาก มีข้อจำกัดในการดูแลจากความพิการ ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย โดยพบว่าผู้พิการร้อยละ 98 มีปัญหาสุขภาพ เช่น ฟันผุ ตาพร่ามัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน จากเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อย เมื่อเจ็บป่วยไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์โดยลำพังได้ ต้องทนอยู่กับโรค ได้มอบนโยบายให้กรมการแพทย์ จัดบริการคล้ายโรงพยาบาลรุกถึงพื้นที่ นอกจากการตรวจรักษาโรคฟรีแล้ว ให้เพิ่มการจัดอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุ เช่นทำแขน-ขาเทียม จัดรถเข็น ไม้เท้า เครื่องช่วยเดิน เครื่องช่วยฟัง แว่นตาให้ฟรี ให้ใช้ชีวิตประจำวันสะดวกขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้พิการเป็นบุคคลที่มีคุณค่าในสังคม สามารถทำงานมีรายได้เลี้ยงตนเอง
ด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับปี 2551 ตั้งเป้าหมายให้บริการผู้พิการใน 5 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย เพชรบุรี นครปฐม นครศรีธรรมราช และสกลนคร ใช้งบประมาณกว่า 17 ล้านบาท โดยหน่วยบริการเคลื่อนที่ได้จัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา จากศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ สถาบันประสาทวิทยา สถาบันทันตกรรม เพื่อให้บริการครบวงจร ทั้งตรวจโรคตา คัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตา ตัดแว่นสายตา ตรวจหู แจกเครื่องช่วยฟัง ทำแขน-ขาเทียม แจกรถนั่ง เครื่องช่วยเดิน ตรวจข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ ตรวจประเมินความพิการเพื่อจดทะเบียนผู้พิการ ทำฟัน รวมทั้งอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์เรวัต กล่าวต่อว่า ขณะนี้ดำเนินการแล้วที่สุโขทัย และเพชรบุรี ให้บริการผู้พิการประมาณ 5,000 คน และกำหนดออกให้บริการที่นครศรีธรรมราช วันที่ 27 พฤษภาคม 3 มิถุนายน 2551 และสกลนคร วันที่ 22-29 กรกฎาคม 2551 ในรอบ 2 ปีมานี้ ให้บริการผู้พิการและผู้สูงอายุไปแล้ว 18,215 คน ใน 9 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พะเยา นครราชสีมา หนองคาย พังงา กาญจนบุรี นครสวรรค์ สุรินทร์ และชุมพร จากการประเมินผลพบว่า ผู้มารับบริการและญาติ มีความพึงพอใจระดับสูง เฉลี่ยร้อยละ 90 เนื่องจากสะดวกในการเดินทาง และได้รับบริการที่มีคุณภาพ รวดเร็ว
สำหรับจังหวัดนครปฐม ให้บริการวันที่ 21 22 เมษายน 2551 ตั้งเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 3,000 คน มีบริการทำฟัน ตรวจวัดสายตา คัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตา แจกแว่นสายตา 1,200 คน ตรวจวัดการได้ยิน 500 คน ทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด ผลิตและซ่อมแซมแขนขาเทียม 800 คน มอบรถนั่ง เครื่องช่วยเดิน ตรวจข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ 300 คน ตรวจประเมินความพิการเพื่อขึ้นทะเบียน และต่อทะเบียนผู้พิการให้ได้มากที่สุดด้วย
***************************** 21 เมษายน 2551
View 7
21/04/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ