กระทรวงสาธารณสุข สั่งเฝ้าระวังการติดเชื้อในคนอย่างใกล้ชิดที่สระบุรีและพระนครศรีอยุธยา หลังพบเป็ดไล่ทุ่งตายลอยอืดเกลื่อนคลอง เตือนประชาชนห้ามนำเป็ดไก่ที่ตายมาทำเป็นอาหาร หากต้องการเก็บซากมาทำลาย ต้องสวมถุงมือยางหรือสวมถุงพลาสติกหนาๆ หลายชั้นทุกครั้งอย่าจับด้วยมือเปล่า เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากซากเป็ดหรือสัตว์ปีก จากกรณีที่มีข่าวเป็ดไล่ทุ่งในพื้นที่บ้านหนองมน ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ล้มตายเกลื่อน บางส่วนลอยอืด เน่าเหม็นอยู่ในคลองชลประทานและตามพงหญ้าสองฝั่งคลอง ซึ่งเป็นเขตติดต่อท้องที่ตำบลวังแดง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้เกษตรกรที่จะลงพื้นที่เกี่ยวข้าวนาปรังพากันหวาดผวา เพราะเกรงว่าเป็ดไล่ทุ่งที่ล้มตายเป็นจำนวนมากจะเป็นไข้หวัดนกนั้น ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (23 เมษายน 2551) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว สำนักงานควบคุมโรคพื้นที่เขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ลงไปที่ตำบลวังแดง อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ โดยไม่ต้องรอผลการตรวจยืนยันเชื้อจากซากเป็ดที่ตาย และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบลวังแดง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. ให้ความรู้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ ห้ามนำเป็ดไก่ที่ตายมาทำเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด หากต้องการเก็บซากมาทำลาย ต้องสวมถุงมือยางหรือถุงพลาสติกหนาๆ หลายชั้นทุกครั้งอย่าจับด้วยมือเปล่า และเฝ้าติดตามอาการผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิดทุกวัน เป็นเวลา 14 วัน หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามข้อ กล้ามเนื้อและร่างกาย ไอแห้งๆ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ตาแดงหรือบวม ให้ส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลทันที ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะมิสเตอร์ไข้หวัดนกของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากยังไม่ทราบว่าเป็ดที่ตายผิดปกติดังกล่าวมาจากสาเหตุใด เพื่อความปลอดภัยประชาชนอย่านำเป็ดตายมาปรุงเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด สำหรับเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่จะเก็บซากเป็ดขึ้นจากน้ำเพื่อฝังกลบอย่างถูกวิธี ต้องปฏิบัติและดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้ผ้าปิดปาก จมูก สวมถุงมือ รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อยๆ หลังปฏิบัติงานเสร็จ ให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงาน ส่วนเสื้อผ้าชุดเดิมควรนำไปซักให้สะอาด และผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้อีกครั้ง สำหรับสถานการณ์ไข้หวัดนกในคน จากการเฝ้าระวังการป่วยทั้งจากทุกหมู่บ้าน และการดำเนินการควบคุมโรคอย่างเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม. ทำให้ไม่มีผู้ป่วยมากว่า 2 ปีแล้ว โดยรายสุดท้ายพบเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 และจากการติดตามสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกในคนทั่วโลกจากองค์การอนามัยโลกในปี 2551 นี้ พบว่ายังมีปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกรวม 23 ประเทศ มีรายงานคนป่วยจากโรคไข้หวัดนกรวม 30 ราย เสียชีวิต 23 ราย ใน 4 ประเทศได้แก่ จีน ป่วย 3 รายเสียชีวิตทั้งหมด อียิปต์ป่วย 7 ราย เสียชีวิต 3 ราย อินโดนีเซียป่วย 15 ราย เสียชีวิต 12 ราย และเวียดนามป่วย 5 รายเสียชีวิตทั้งหมด


   
   


View 8    23/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ