รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้มูลค่าการใช้ยาสมุนไพรไทยในสถานบริการสาธารณสุขยังเติบโตน้อย มีเพียงร้อยละ 0.8 ของค่าใช้จ่ายด้านยาทั้งหมด เร่งส่งเสริมการศึกษาวิจัยคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้มีข้อมูลทางวิชาการเป็นที่ยอมรับ สร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มมูลค่าได้ตามเป้าคือร้อยละ 25 ในปี 2554 เช้าวันนี้ (24 เมษายน 2551) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เป็นประธานเปิดอาคารส่งเสริมสุขภาพและเอนกประสงค์ (แบบแพทย์แผนไทย) ของโรงพยาบาลห้วยพลู อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ใช้งบประมาณก่อสร้างจากโครงการตามยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด 8.4 ล้านบาท และเงินบริจาค จากประชาชนตกแต่งอาคารและซื้อวัสดุอุปกรณ์ อีก 1.4 ล้านบาท นายไชยา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก เพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ สร้างความเข้มแข็งระบบบริการสุขภาพ และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ โดยให้สถานบริการในสังกัดทุกระดับ จัดบริการการแพทย์แผนไทย เริ่มจากการจำหน่ายหรือใช้สมุนไพรอย่างน้อย 1 ชนิด บริการนวดไทย อบ ประคบ ฝึกอบรมด้านแพทย์แผนไทย จนถึงผลิตยาสมุนไพรเพื่อใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ทำได้ร้อยละ 95 โดยโรงพยาบาลทุกระดับเปิดบริการแล้ว 746 แห่ง ส่วนสถานีอนามัยเปิดได้ 9,558 แห่ง คาดว่าจะครบทั้งหมดในปลายปีนี้ ในปีที่ผ่านมามีประชาชนใช้บริการแพทย์แผนไทยทั่วประเทศ 5 ล้านกว่าคน หรือประมาณ ร้อยละ 9 ของผู้รับบริการทั้งหมด ส่วนใหญ่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เคล็ดขัดยอก โดยใช้บริการนวดมากที่สุด ร้อยละ 48 รองลงมาคือการประคบ ร้อยละ 19 ในปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนผู้รับบริการแพทย์แผนไทยให้ได้ร้อยละ 15 นายไชยา กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าห่วงขณะนี้คือ การใช้ยาสมุนไพรไทยของคนไทยมีค่อนข้างน้อย ในปี 2550 มูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในสถานพยาบาลทั่วประเทศ มีเพียงร้อยละ 0.8 ของค่าใช้จ่ายด้านยาทั้งหมด ทั้งๆ ที่สรรพคุณสมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับในภูมิภาคเอเชีย มีความปลอดภัยมากกว่าและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน สาเหตุเนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ขาดความเชื่อมั่น ในปีนี้จะเร่งให้มีการใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ให้ได้ร้อยละ 3 ส่วนโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยให้ได้ร้อยละ 5 โดยให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ และองค์การเภสัชกรรม ศึกษาวิจัยคุณภาพและประสิทธิภาพยาสมุนไพรมากขึ้น เพื่อให้มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ สร้างความมั่นใจให้แพทย์และผู้รับบริการใช้ยาสมุนไพรเพิ่มขึ้น และบรรจุเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติได้มากขึ้น จากเดิมที่มีเพียง 19 รายการ โดยตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาลทุกระดับให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปี 2554 ด้านนายแพทย์มนตรี บุญญเลสนิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลห้วยพลู กล่าวว่า โรงพยาบาลเริ่มเปิดให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย ตั้งแต่ปี 2539 ปัจจุบันขยายเป็นศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทย ให้บริการนวด อบ ประคบสมุนไพร ผลิตยาสมุนไพร 20 รายการ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ครีมล้างหน้า สเปรย์ตะไคร้หอม ครีมนวดเท้า เป็นต้น ฝึกอบรมหลักสูตรนวดเท้า นวดตัว 372 ชั่วโมง และการรักษาพยาบาลแพทย์แผนไทยสำหรับเจ้าหน้าที่อนามัย โดยผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานระดับ ดีมาก จากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จากการประเมินผลพบว่า ประชาชนนิยมใช้บริการเพิ่มขึ้นจากวันละ 37 คน ในปี 2549 เป็น 57 คนในปี 2551 มูลค่าการใช้ยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 35 หรือ 2.7 ล้านบาท ในปี 2549 เป็นร้อยละ 51 หรือ 4.4 ล้านบาท ในปี 2550 *************************** 24 เมษายน 2551


   
   


View 10    24/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ