รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้คนไทยยังใช้ยาสิ้นเปลือง เสียค่ายาปีละกว่า 180,000 ล้านบาทหรือร้อยละ 43 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะมักชอบชนิดฤทธิ์แรง เพราะอยากหายไวๆ เกิดผลเสีย ทำให้เชื้อโรคดื้อยา ฝากเภสัชกรช่วยแก้ไข ส่งเสริมคนไทยใช้ยาอย่างถูกต้อง ปลอดภัย เผยการทำซีแอลยามะเร็งทุกตัวคืบหน้า เร่งดำเนินการให้ผู้ป่วยได้ใช้ยาที่มีคุณภาพเร็วที่สุด ส่วนยารักษาโรคหัวใจจะได้ใช้อย่างช้าภายในมิ.ย.นี้ วันนี้ (25 เมษายน 2551) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กทม. นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการเภสัชกรรม ประจำปี 2551 จัดโดยเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีเภสัชกรจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน บริษัท และร้านขายยาทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน ปีนี้เน้นประเด็นเกี่ยวกับบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมในระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย พัฒนา ผลิต และควบคุมคุณภาพมาตรฐานยารักษาโรค สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและระบบสุขภาพของไทยและนานาชาติ นายไชยา กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาล่าสุดถึงวันที่ 23 เมษายน 2551 มียาขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันจำนวน 24,347 ตำรับ ร้อยละ 80 เป็นยาที่ผลิตในประเทศ อีกร้อยละ 20 นำเข้าจากต่างประเทศ ยาที่ผลิตและนำเข้ามากที่สุดเป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะ โดยประมาณการใช้ยาแผนปัจจุบันตามราคาขายปลีกเป็นเงิน 186,330 ล้านกว่าบาทหรือร้อยละ 43 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ซึ่งมูลค่าการใช้ร้อยละ 35-40 มาจากร้ายขายยา และพบว่าคนไทยยังมีการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะที่มักใช้ชนิดที่มีฤทธิ์แรง เพราะอยากหายป่วยไวๆ ซึ่งเกินความจำเป็น และหลังจากที่อาการดีขึ้นเร็ว มักจะไม่กินยาต่อให้ครบขนาดตามแพทย์สั่ง ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา รักษาด้วยยาขนานเก่าไม่ได้ผล จึงต้องใช้ยาตัวใหม่เรื่อยๆ และมักมีราคาแพง นายไชยากล่าวต่อว่า ได้ฝากให้เภสัชกรเร่งช่วยกันแก้ไข ปรับแก้พฤติกรรม ค่านิยมคนไทยให้ใช้ยาอย่างถูกต้อง ซึ่งในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของเภสัชกรในการดูแลระบบยาและให้บริการยาที่มีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล เกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด ประชาชนปลอดภัยมากที่สุด และไม่เกิดการดื้อยา โดยเฉพาะเภสัชกรประจำโรงพยาบาล ศูนย์แพทย์ชุมชน และศูนย์สุขภาพชุมชน ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีประมาณ 5,000 คน ได้กำชับให้รอบคอบในการจ่ายยา ให้ความสำคัญกับการแนะนำวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้องแก่ผู้ป่วย ติดตามอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา และมอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งพัฒนาและรับรองคุณภาพร้านยาซึ่งถือเป็นที่พึ่งของผู้เจ็บป่วยที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดให้ได้มาตรฐาน สำหรับความคืบหน้ามาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือซีแอล (CL : Compulsory Licencing) โดยรัฐในยารักษาโรคมะเร็ง 4 รายการ ได้แก่ ยาอิมาทินิบ (Imatinib) ยาโดซี่แท็กเซล (Docetaxel) ยาเออร์โลทินิบ (Erlotinib) และยาเลโทรโซล (Letrozole) ได้รับรายงานจากนายแพทย์วิฑิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมว่า อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาสั่งซื้อยาโดซี่แท็กเซลรักษามะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม ชนิดฉีดขนาด 20 และ 80 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร จำนวน 18,000 ขวด กับบริษัทดาเบอร์ (Dabur) ประเทศอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ โดยกำหนดส่งมอบงวดแรกภายใน 2 เดือนหลังวันเซ็นสัญญา ส่วนยาเออร์โลทินิบรักษามะเร็งปอด และยาเลโทรโซลรักษามะเร็งเต้านม อยู่ระหว่างขั้นตอนการกำหนดรายละเอียดหรือทีโออาร์ (TOR) และตรวจสอบมาตรฐานเบื้องต้นของโรงงานที่จะเชิญมาเสนอราคา คาดว่าจะประกาศให้บริษัทที่สนใจมายื่นประกวดราคากับองค์การเภสัชกรรมได้ไม่เกินต้นเดือนมิถุนายน 2551 ส่วนยาอิมาทินิบ รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวและทางเดินอาหาร ขณะนี้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรได้ขายยาราคาพิเศษเพื่อใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังและมะเร็งทางเดินอาหารในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติจีแพป (GIPAP) ทั้งนี้ ในส่วนของยาต้านไวรัสเอดส์และรักษาโรคหัวใจที่ประกาศทำซีแอลเมื่อปีที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรมได้นำเข้ายาต้านไวรัสเอดส์ ได้แก่ เอฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) หรือชื่อทางการค้าว่า สต็อคคริน (Stocrin) ขนาด 600 มิลลิกรัม จำนวน 3 ครั้ง รวม 266,000 ขวด และขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 10,000 ขวด และยาโลพินาเวียร์+ริโทนาเวียร์หรือชื่อทางการค้าว่า อาลูเวียร์ (Aluvir) จำนวน 8,000 ขวด จัดส่งให้โรงพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศแล้ว ส่วนยาละลายลิ่มเลือดหัวใจ โคลพิโดเกรล (Clopidogrel) หรือชื่อทางการค้าว่า พลาวิก (Plavix) ที่สั่งซื้อจากบริษัทคาดิล่า ฟาร์มาซูติคอล (Cadila Pharmaceutical) ประเทศอินเดีย รุ่นแรก จำนวน 2.1 ล้านเม็ด การเซ็นสัญญาจะเสร็จสิ้นในเดือนเมษายนนี้ กำหนดส่งมอบภายในเดือนมิถุนายน 2551 ผู้ป่วยจะได้ใช้ยาดังกล่าวอย่างแน่นอน *************************** 25 เมษายน 2551


   
   


View 8    25/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ