รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้คนไทยป่วยเป็นโรคผิวหนังมากขึ้นเรื่อยๆ จากการทำงานและมลพิษจากสารเคมีในสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าพัฒนาสถาบันโรคผิวหนังให้เป็นสถาบันวิชาการชั้นนำด้านโรคผิวหนังในภาคพื้นเอเชียภายในปี 2553 ด้านผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังแนะนำการดูแลสุขภาพผิวหน้าร้อน โดยเฉพาะการใช้ “ครีมผสมคอลลาเจน” ไม่ช่วยให้ผิวเต่งตึง เนื่องจากโมเลกุลขนาดใหญ่ ซึมเข้าผิวไม่ได้ เช้าวันนี้ (28 เมษายน 2551) ที่สถาบันโรคผิวหนัง ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดงาน “36 ปี สถาบันโรคผิวหนัง วิทยาการสู่สุขภาพผิวดี” เพื่อให้ความรู้การดูแลสุขภาพผิวหนังที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยเฉพาะการเลือกใช้บริการเลเซอร์และนวัตกรรมเพื่อความงามต่างๆ การปกป้องผิวจากแสงแดดในช่วงฤดูร้อน รวมถึงการดูแลตนเองในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน และโรคผิวหนังที่พบบ่อย ภายในงานมีบริการตรวจวัดความชุ่มชื้นผิว การให้คำแนะนำการดูแลผิวพรรณ การตรวจกรุ๊ปเลือด การให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ยาโดยเภสัชกร นิทรรศการความก้าวหน้าทางวิชาการของสถาบันโรคผิวหนัง การสัมมนาความรู้เรื่องโรคผิวหนังและการดูแลผิวพรรณแก่ประชาชน นายไชยา กล่าวว่า โรคผิวหนังส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงถึงแก่ชีวิต แต่มักเรื้อรัง และเป็นเรื่องของความสวยงาม ทำให้ขาดความมั่นใจ สังคมรังเกียจ จากสถิติในปี พ.ศ. 2549 พบผู้ป่วยโรคผิวหนังมากเป็นลำดับที่ 7 ของประเทศ พบได้ 82 คน ในประชากรทุก 1,000 คน ส่วนใหญ่มักเป็นภูมิแพ้ ที่เกิดจากการสัมผัสสารเคมีขณะทำงาน และมลพิษในสิ่งแวดล้อม ในขณะที่โรคผิวหนังในอดีตมักเกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคเรื้อน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคสะเก็ดเงินซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ผิวหนังในร่างกายเอง นายไชยากล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ พบว่ากระแสความนิยมเกี่ยวกับความสวยงามของผิวพรรณและใบหน้ากำลังมาแรง ทั้งหญิงและชายต้องการมีผิวขาวใส เต่งตึง ไร้สิวฝ้าหรือจุดด่างดำ ทำให้หันไปพึ่งพาสถานเสริมความงาม ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งร้านเสริมสวย คลินิก โรงพยาบาลเอกชน นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ดึงดูดใจให้ไปใช้บริการ เนื่องจากเห็นผลทันใจ เช่น เลเซอร์รักษาจุดด่างดำ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้กองการประกอบโรคศิลปะสอดส่องควบคุมมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีเสริมความงามต่าง ๆ ขณะเดียวกันมีนโยบายพัฒนาสถาบันโรคผิวหนัง ให้เป็นหน่วยงานวิชาการชั้นสูงเฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง นอกจากบำบัดรักษาโรคผิวหนังที่ได้มาตรฐาน ศึกษาวิจัยด้านโรคผิวหนังเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศแล้ว ตั้งเป้าหมายพัฒนาให้เป็นผู้นำระดับประเทศ และเป็นสถาบันวิชาการชั้นนำด้านโรคผิวหนังในภาคพื้นเอเชีย ภายในปี 2553 โดยจัดอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในระดับประเทศและนานาชาติ ด้านนายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ผิวหนังจัดเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย มีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ปกป้องเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ใช้ในการดูแลปัญหาผิวพรรณ เช่น การใช้เลเซอร์ลบริ้วรอยเหี่ยวย่น กำจัดขน ลบจุดด่างดำ เทคโนโลยีไอพีแอล (IPL : Intense Pulse Light) ที่ใช้พลังงานแสงความเข้มสูง กำจัดเม็ดสีส่วนเกิน ลดรอยคล้ำ แต่มีราคาค่อนข้างสูง ขอแนะนำประชาชนว่า ปัญหาผิวหนังบางอย่างอาจไม่หายขาด หรือกลับมาเป็นใหม่ได้ และต้องใช้เวลารักษาอย่างต่อเนื่องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น นายแพทย์จิโรจกล่าวต่อว่า ในช่วงหน้าร้อนนี้ ประชาชนควรทาครีมกันแดดเพื่อปกป้องรังสียูวี ซึ่งทำให้ผิวคล้ำ เป็นฝ้า ตกกระ หรือผิวเหี่ยวย่นแก่ก่อนวัย หากถูกระยะยาวอาจเป็นมะเร็งผิวหนังได้ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะแสงแดดในช่วงระหว่าง 10.00 น. – 15.00 น. และใส่เสื้อแขนยาว สวมหมวกปีกกว้าง หรือกางร่ม สำหรับครีมบำรุงผิวที่ใช้ประจำวันนั้น ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง โดยเฉพาะครีมที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน ที่มักโฆษณาว่าสามารถทำให้ผิวหนังเต่งตึงได้นั้น ข้อเท็จจริงไม่มีสรรพคุณให้ผิวเต่งตึง เนื่องจากคอลลาเจนมีโมเลกุลขนาดใหญ่ ไม่สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ การดูแลให้ผิวมีสุขภาพดี ต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ โดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้ซึ่งมีวิตามินสูง ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6 – 8 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ผิวแก่ก่อนวัย เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การโดนแสงแดดจัดเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ต่อวันมีผู้ป่วยโรคผิวหนังรับบริการที่สถาบันโรคผิวหนังโดยเฉลี่ย 500 ราย เกือบครึ่งมาจากต่างจังหวัด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันสถาบันโรคผิวหนังเปิดให้บริการผู้ป่วยทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ ในปี 2550 มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 159,281 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคผิวหนังอักเสบ รองลงมาคือสิวอักเสบ *************************************** 28 เมษายน 2551


   
   


View 6    28/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ