รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการเพื่อจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้ได้รับการบริการฟื้นฟูทางการแพทย์อย่างทั่วถึงเท่าเทียมทุกสิทธิประโยชน์ ผลการสำรวจล่าสุดทั่วประเทศมีผู้พิการ 1 ล้าน 8 แสนคน ในจำนวนนี้ 1 ล้านคนยังเข้าไม่ถึงบริการ บ่ายวันนี้ (29 เมษายน 2551) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและปรับปรุงวิธีการในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองคนพิการเพื่อมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะเหตุสภาพทางกายหรือสุขภาพ ให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ตลอดจนให้รัฐต้องสงเคราะห์คนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ โดยพรบ.ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2550 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา นายไชยา กล่าวว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 เป็นพรบ.ใหม่ใช้แทนพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการฉบับเก่าพ.ศ.2534 ที่ใช้มานานกว่า 15 ปี ซึ่งสาระสำคัญและรายละเอียดการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน จึงได้ปรับแก้ให้ทันการ โดยตามพรบ.ฉบับใหม่นี้มุ่งเน้นที่การพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการมากกว่าการสงเคราะห์ โดยจะประเมินความพิการและจัดกิจกรรมความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับข้อจำกัดจากความพิการ สามารถใช้ชีวิตประจำวันและพร้อมเข้าสู่สังคมได้เหมือนกับบุคคลทั่วไป ในขณะที่พรบ.ฉบับเดิมประเมินความพิการเฉพาะความผิดปกติ ทั้งนี้ พรบ.ฉบับใหม่นี้ยังได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ครอบคลุมทั้งสิทธิทางการแพทย์ การจ้างงาน และสังคม นายไชยา กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ของคนพิการที่ใช้เดิมประกอบด้วยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการและสื่อส่งเสริมพัฒนาการต่างๆ ในการปรับสภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือส่งเสริมสมรรถภาพให้ดีขึ้น ซึ่งมีสิทธิ 3 ประเภท ได้แก่ ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และข้าราชการ ยังไม่เท่าเทียมกัน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเร่งจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นกฎหมายลูกตามพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. 2550 ทั้งในเรื่องการจัดประเภทคนพิการ หลักเกณฑ์วินิจฉัยความพิการ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆในการฟื้นฟู และเงื่อนไขการรับบริการอย่างเท่าเทียมกัน และจะเปิดเวทีระดมความคิดเห็นผู้พิการทั่วประเทศด้วย เพื่อให้ผู้พิการมีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกันมากขึ้น จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2550 พบอัตราคนพิการร้อยละ 2.9 หรือมีประมาณ 1 ล้าน 8 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ที่มีร้อยละ 1.8 โดยมากที่สุดเป็นความพิการประเภทกายและการเคลื่อนไหวมีร้อยละ 47 รองลงมาคือ การได้ยินร้อยละ 22 แต่ในจำนวนนี้ได้รับการตรวจประเมินสภาพและขึ้นทะเบียนฟื้นฟูแล้ว 738,143 คน ยังเหลือผู้พิการที่ยังเข้าไม่ถึงบริการประมาณ 1 ล้านกว่าคน โดยตามร่างประกาศกระทรวงพัฒนาสังคม เมื่อ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ได้กำหนดคนพิการมี 9 ประเภทได้แก่ พิการทางการมองเห็น การได้ยิน การสื่อสาร การเคลื่อนไหว พิการทางจิตใจและอารมณ์ พิการทางพฤติกรรม ทางสติปัญญา การเรียนรู้และออทิสติก ******************************* 29 เมษายน 2551


   
   


View 6    29/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ