รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยแพทย์ไทยทำงานหนัก เฉลี่ย 1 คนดูแลประชากรถึง 2,800 คน สูงกว่าเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด มีเวลาตรวจคนไข้น้อย เร่งผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทอีกปีละ 750 คน และขออัตราบรรจุนักเรียนทุน อีกกว่า 3,000 อัตรา และเพิ่มความก้าวหน้าผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนได้ถึงระดับ 9 วันนี้ (12 ตุลาคม 2549) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมสัมมนาผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการ และแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน กว่า 350 คน เพื่อพัฒนาวิชาชีพแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน และมอบรางวัลแพทย์ดีเด่น จากกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ซึ่งเป็นกองทุนในมูลนิธิแพทย์ชนบท มอบให้แก่แพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบทด้วยความกล้าหาญ เสียสละ อดทน และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา โดยในปี พ.ศ.2549 แพทย์ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ นายแพทย์ธวัติ บุญไทย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี และนายแพทย์เฉิดพันธุ์ ภัทรพงศ์สินธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ และทีมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน นายแพทย์มงคล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาสถานบริการสาธารณสุข ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีโรงพยาบาลในสังกัดทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่กว่า 800 แห่ง แต่มีแพทย์ประจำการประมาณ 9,300 คนเท่านั้น เฉลี่ยแพทย์ 1 คนต้องดูแลประชากรถึง 2,800 คน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนดไว้คือ แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,800 คน ทำให้แพทย์ต้องทำงานหนัก มีเวลาตรวจคนไข้น้อย มีโอกาสเกิดความผิดพลาดและถูกฟ้องร้องเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบถึงขวัญกำลังใจของแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์โรงพยาบาลชุมชนในชนบทตามอำเภอต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติงานท่ามกลางความขาดแคลน ทั้งเครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัย วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ และกำลังคน ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานเร่งผลิตแพทย์ เพื่อปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งดูแลประชาชนในพื้นที่ชนบท ในแผนลงทุนเสริมสร้างโครงสร้างสาธารณสุขแห่งชาติ (พ.ศ.2549-2552) ตามโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐด้านสาธารณสุข หรือเมกะโปรเจค ตั้งเป้าหมายผลิตแพทย์เพิ่มให้ได้อีก ปีละ 750 คน ภายในระยะเวลา 6 ปีจะได้แพทย์เพิ่มอีก 4,530 คน เสริมกับการผลิตระบบปกติซึ่งมีปีละเกือบ 2,000 คน โดยรับเด็กจากพื้นที่เข้าเรียนอำเภอละ 1 ทุน โดยร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นผู้จัดทำหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนชั้นปีที่ 1-3 ส่วนโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะรับผิดชอบจัดการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 4-6 หรือชั้นคลินิก ซึ่งเป็นภาคปฏิบัติจริงในหอผู้ป่วย และให้กลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนาเดิม เพื่อให้เกิดการกระจายของแพทย์ครอบคลุมทุกพื้นที่ ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ได้ขอกำหนดตำแหน่งเพิ่มเติม เพื่อรองรับนักเรียนทุนที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุขถึงปี 2548 จำนวน 3,712 ราย โดยขอใช้ตำแหน่งว่าง จำนวน 1,977 อัตรา และขออนุมัติเพิ่มอีก 1,735 อัตรา รวมทั้งเพิ่มความก้าวหน้าในวิชาชีพ โดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน จากเดิมเป็นระดับ 8 ได้เสนอขอกำหนดเป็นระดับ 9 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แพทย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.พ. ทั้งนี้ ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเร่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพและคุณภาพงานบริการ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และถูกต้องตามหลักวิชาชีพ มีการป้องกันควบคุมโรค และการเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง เช่น ไข้หวัดนก โดยมีการจัดห้องแยกที่เหมาะสม พัฒนาบุคลากรให้สามารถตรวจ วินิจฉัย และรักษาพยาบาลได้อย่างถูกต้อง มีการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคเงียบ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ด้วยการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม การส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก เพื่อพัฒนาไอคิว อีคิวของเด็กไทย ************************************ 12 ตุลาคม 2549


   
   


View 15    12/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ