กระทรวงสาธารณสุข เตรียมส่งออก 16 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้านจาก 5 จังหวัดภาคกลางที่ประสบภัยน้ำท่วม สู่ตลาดต่างประเทศ อาทิ น้ำมันหอมระเหย โลชั่นบำรุงผิว ครีมบำรุงทรวงอก เริ่มแรกจะเปิดร้านเฮิร์บ คลับ ที่ชั้น 4 สยามพารากอน จำหน่ายในประเทศในเดือนมิถุนายนนี้ และร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)พัฒนาเทคโนโลยีถนอมอายุผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย คงความสด และความหอม เพื่อใช้ในการทดลองวิจัยโดยเฉพาะการผลิตยาไทยที่ศูนย์พัฒนายาไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ บ่ายวันนี้(30 เมษายน 2551)ที่ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน กทม. นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ลือชา วนรัตน์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมกัน แถลงข่าว ความสำเร็จโครงการ“บูรณาการการสร้างอาชีพด้วยการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร” และพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ในการทดสอบนำเครื่องทำความเย็นระบบสูญญากาศ(Vacuum Freeze Dryer) ขนาด 50 ลิตร ผลิตจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเทคโลยีใหม่มาใช้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาสมุนไพร ให้คงความสดทั้งกลิ่น รส ยืนยาวนานขึ้น โดยไม่ต้องแช่เย็น ใช้ในงานวิจัยทดลองเพื่อพัฒนายาไทยของศูนย์พัฒนายาไทยและสมุนไพร กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป นายไชยา กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเร่งฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ใช้บำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชนให้มากขึ้น เพื่อการพึ่งพาตนเอง ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแต่ละปีไทยมีมูลค่าการใช้ ยาแผนปัจจุบันสูงถึง 3 แสนล้านบาท ร้อยละ 80 นำเข้าจากต่างประเทศ ในขณะที่มูลค่าการใช้ยาสมุนไพรมีไม่ถึงร้อยละ 1 สาเหตุหนึ่งมาจากความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของยาสมุนไพร กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์พัฒนายาไทยที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เพื่อศึกษาวิจัยร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันวิจัยในประเทศ พัฒนาคุณภาพสมุนไพรซึ่งสามารถแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง ยา และอาหารเสริมต่างๆ ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับความนิยมจากกระแสโลกหันมาพึ่งผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เนื่องจากเชื่อมั่นในความปลอดภัย จึงเป็นโอกาสทองของประเทศไทย ที่จะเร่งฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ ล่าสุดนี้ ได้รับรายงานว่ากรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ได้พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้านจากชุมชนในระดับมาตรฐานส่งออกได้แล้ว 16 รายการ ได้แก่ โลชั่นกวาวเครือ โลชั่นดอกบัว โลชั่นน้ำมันมะพร้าว ครีมบำรุงทรวงอก แชมพูกระเม็ง แชมพูใบบัว แชมพูข้าวหอมนิล นำยาบ้วนปากสูตรกานพู และสูตรสมุนไพรรวม น้ำมันบำรุงผม น้ำมันหอมระเหยสกัดจากดอกไม้ไทยๆ ใช้ในกิจการสปา ชาสมุนไพร น้ำลูกยอ-กระชายดำ น้ำพริกข่า ถ่านผลไม้ ข้าวเกรียบมอญโบราณ เตรียมส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีแหล่งปลูกวัตถุดิบที่ชุมชนในจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมหนักในปี 2549 กระทรวงสาธารณสุขเตรียมส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ โดยจะประสานนักการตลาดมืออาชีพ เช่น บริษัทยูบีซี ช่วยดำเนินการส่งเสริมการส่งออกซึ่งในเดือนมิถุนายนนี้จะเปิดร้านเฮิร์บ คลับ(Herb Club)จำหน่ายสินค้าดังกล่าวที่ชั้น 4 ของสยามพารากอนก่อน ทางด้านนายแพทย์ลือชา วนรัตน์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯจัดทำโครงการสร้างอาชีพด้วยการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ประกอบด้วยการปลูกสมุนไพรเชิงอินทรีย์ การสอนการนวด การอบรมและถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตสมุนไพร เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางได้แก่ สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานีและอ่างทอง ตามนโยบายรัฐบาล ดำเนินโครงการ 1 ปี ได้รับงบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เริ่มโครงการตั้งแต่ พฤษภาคม 2550 สิ้นสุดเมื่อ 30 เมษายน 2551 พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก นายแพทย์ลือชากล่าวว่า ในการปลูกพืชสมุนไพรเชิงอินทรีย์ มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 342 ครอบครัว พื้นที่เพาะปลูกเกือบ 228 ไร่ ปลูกสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง บัวบก บัวหลวง มะแว้งเครือ ขมิ้นชัน กะเพรา โหระพา แฝกหอม ว่านน้ำ ทองพันชั่ง อัญชัน และข่า โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการ จากสำนักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการตากสมุนไพร ป้องกันการปนเปื้อน รวมทั้งประสานแหล่งรับซื้อวัตถุดิบระดับอุตสาหกรรม สามารถสร้างรายได้ให้ครัวเรือนเป็นกอบเป็นกำ เช่น ที่ชุมชนลำมะลิด อ.วิเศษชัยชาญ ชุมชนป่าโมก มีรายได้จากการขายสมุนไพรเดือนละ 1 ล้านกว่าบาท ได้อบรมและถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตสมุนไพร สร้างผู้ประกอบการด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพรจากชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน 16 ผลิตภัณฑ์ มีคุณภาพระดับมาตรฐานการส่งออกต่างประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดและช่องทางการจำหน่าย มีผู้เข้าร่วม 170 ครอบครัว ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะส่งวางจำหน่ายที่สยามพารากอน และจำหน่ายในโรงพยาบาล สถานีอนามัยในพื้นที่ 20 แห่งด้วย สามารถเพิ่มมูลค่าการใช้สมุนไพรในโรงพยาบาลได้จากร้อยละ 0.9 เป็นร้อยละ 5 ส่วนการสอนการนวดไทยและ สปาหลักสูตร150 ชั่วโมง มีผู้ผ่านการอบรม 150 คน สามารถประกอบอาชีพในสถานพยาบาลและสปาต่างๆ มีรายได้เฉลี่ยคนละกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ขณะนี้กรมฯกำลังศึกษาวิจัยยาสมุนไพร 10 ชนิด ได้แก่ มังคุด จันแปดกลีบ บัวบก พริกไทย ปัญจขันธ์ ฟ้าทะลายโจร มะขามป้อม บัวหลวง เห็ดหลินจือ และชุมเห็ดเทศ เพื่อนำมาใช้ในการแพทย์สาธารณสุขต่อไป เมษายน **************************************************** 30 เมษายน 2550


   
   


View 6    30/04/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ