จิตแพทย์ แนะชาวบ้านน้ำท่วมยึดหลักสมานฉันท์ “อย่าเจาะ”คันกั้นน้ำ กระทรวงสาธารณสุข จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เกือบ 2,000 หน่วย ออกรักษาพยาบาลผู้ประสบภัย ขณะนี้ยอดพุ่งกว่า 260,000 ราย พบโรคเครียด 16,000 ราย ด้านอธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะให้ประชาชนพื้นที่น้ำท่วมยึดหลักสมานฉันท์ เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ไม่ควรเจาะคันกั้นน้ำเพื่อลดผลกระทบแหล่งที่อยู่อาศัย พร้อมให้ญาติดูแลผู้เป็นโรคลมชักซึ่งมีในพื้นที่น้ำท่วมภาคกลางเกือบ 9,000 คน เพราะอาจจมน้ำได้ง่าย นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์การให้ความช่วยเหลือน้ำท่วมว่า กระทรวงสาธารณสุขจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาพยาบาลผู้ประสบภัย 1,700 กว่าทีม ยอดผู้ป่วยรายวันเพิ่มขึ้น ประมาณ 8,000 ราย จนถึงขณะนี้ได้ให้การรักษาไปแล้ว รวม 263,856 คน โรคที่พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ โรค น้ำกัดเท้าและผื่นคันตามตัว 158,425 ราย ไข้หวัด 27,407 ราย ปวดเหมื่อย 18,176 ราย โรคเครียด 16,179 ราย โรคตาแดง 11,036 ราย ได้แจกยาตำราหลวงไปแล้วให้ผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ตามบ้านเรือนต่างๆ เพื่อรักษาตัวเองเบื้องต้นหากเจ็บป่วย จำวน 111,500 ชุด ยาน้ำกัดเท้า 20,000 ชุด ยาหยอดตา 8,000 ชุด ผงน้ำตาลเกลือแร่ 10,000 ชุด และ แจกสารส้มและคลอรีน รวม 82,000 กิโลกรัม เพื่อปรับสภาพน้ำให้สะอาดเอาไว้ใช้ในบ้านเรือน และถุงดำสำหรับใส่อุจจาระและขยะชั่วคราว จำนวน 100,000 ใบ นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด 24 ชั้วโมง ที่ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โทร 02-590-1994 โทรสาร 02-590-1993 อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสภาพการณ์น้ำท่วม ยังพบชาวบ้านใช้น้ำที่ท่วมขังบริเวณบ้านมาใช้ล้างหน้า แปรงฟัน ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคตาแดง และผื่นคัน โดยก่อนนำน้ำท่วมมาใช้ขอให้ใช้สารส้มแกว่งน้ำให้ใสก่อน และใส่คลอรีนฆ่าเชื้อในน้ำ เพื่อให้ปลอดภัย และไม่เป็นโรค ทางด้าน นายแพทย์ หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานว่าผู้ประสบภัยน้ำท่วมบางพื้นเกิดกรณีพิพาท โดยฝ่ายที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมบ้านไปเจาะคันกั้นน้ำ เพื่อระบายน้ำออกไปยังฝั่งที่ไม่ท่วม ซึ่งไม่เป็นผลดีและยังก่อให้เกิดปัญหาเพราะไม่ได้ทำให้น้ำแห้งไป จึงขอให้ประชาชนทั้งที่เดือดร้อนและไม่เดือดร้อนยึดหลักสมานฉันท์ ฝั่งที่น้ำไม่ท่วม ขอให้เอื้อที่อยู่อาศัย อาจทำเป็นศูนย์เลี้ยงเด็ก ศูนย์ผู้สูงอายุ หรือหากเป็นวัดก็ตั้งเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว ให้ผู้ประสบภัยที่เดือดร้อนมานั่งพูดคุยกัน เพราะจะสามารถบรรเทาความเครียด ความทุกข์ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขให้กัน อันเป็นการแสดงถึงความมีน้ำใจของคนไทย อย่างไรก็ดี จากการประเมินสถานการณ์หลายฝ่ายพบว่าสภาพน้ำท่วมจะยืดเยื้อเป็นเดือน ดังนั้น กลุ่มที่น่าห่วงมากและต้องระมัดระวังในช่วงที่มีน้ำท่วมขังเป็นพิเศษ คือ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคลมชักหรือลมบ้าหมู เพราะอาจจะประสบอุบัติเหตุจมน้ำได้ง่ายกว่าคนปกติหลายเท่าตัว โดยในจังหวัดภาคกลางที่น้ำท่วมมีผู้ป่วยโรคลมชักขึ้นทะเบียนรักษาประจำทั้งหมด 8,907 ราย จะต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง และห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดอย่างเด็ดขาด หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรเดินทางในระหว่างมีน้ำท่วม หรือถ้าจะเดินทางโดยทางเรือควรมีผู้ติดตามด้วย รวมทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยอัมพาต ก็ควรจะต้องระมัดระวังดูแลใกล้ชิดเช่นกัน ********************************** 12 ตุลาคม 2549


   
   


View 10    12/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ