“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 7 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขแจงการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ไม่ได้ล่าช้า ดำเนินการอย่างรอบคอบ ยึดหลักปลอดภัย มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ในราคาไม่แพง เจรจากับผู้ผลิตหลายบริษัท ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างสยามไบโอไซเอนซ์และแอสตร้าเซนเนก้า เพราะคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ มีศักยภาพสูงในการผลิตภาวะเร่งด่วน ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ดำเนินการในราคาทุน
วันนี้ (19 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกันแถลงข้อเท็จจริงการจัดหาวัคซีนโควิด 19
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่มีต่อการแพทย์และการสาธารณสุข ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่น้อยหน้าประเทศใดในโลก รวมถึงพระราชทานทรัพย์ในวาระต่างๆ เพื่อพัฒนาสิ่งก่อสร้าง เวชภัณฑ์ในการดูแลประชาชนให้ครอบคลุม โดยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานคำแนะนำและกำลังใจในการควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 อีกทั้งได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มูลค่ารวมกว่า 4 พันล้านบาท ใช้ในการปรับปรุงสถานที่ เวชภัณฑ์/ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับในช่วงโควิด 19 ระบาด อาทิ รถพยาบาล รถเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อชีวนิรภัย 20 คัน ชุดป้องกันส่วนบุคคล หน้ากากอนามัย ถุงยังชีพ และเจลแอลกอฮอล์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสนับสนุนให้การควบคุมป้องกันโรคเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ
“ขณะนี้มีข้อสงสัยถึงกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ในประเด็นต่างๆ ทั้งการได้มาวัคซีนล่าช้า ราคาแพง ไม่ครอบคลุมประชาชน หรือมีการติดต่อบริษัทวัคซีนเพียง 1-2 บริษัทเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประชาชน ยืนยันว่า การดำเนินการจัดหาวัคซีนอาศัยข้อมูลที่มีหลักฐานชัดเจน มีการเจรจากับหลายบริษัทที่ผลิตวัคซีน ยึดหลักคุณภาพและความปลอดภัย” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มการระบาดของโรคโควิค 19 รัฐบาลเห็นว่าวัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่สามารถจะลดการแพร่เชื้อได้ แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องมือทั้งหมดของการควบคุมการแพร่ระบาด โดยยืนยันว่าการจัดหาวัคซีนไม่ได้ล่าช้า แต่เริ่มกระบวนการจัดหามาตั้งแต่กลางปี 2563 โดยตั้งคณะทำงานต่างๆ ขึ้นมาศึกษาและติดตามข้อมูล ทั้งด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย แต่ช่วงเวลานั้นข้อมูลค่อนข้างจำกัดและวัคซีนไม่ใช่สินค้าสำเร็จรูป จึงต้องมีการคาดการณ์และวางแผน โดยตั้งเป้าในปี 2564 จะหาวัคซีนมาฉีดให้คนไทยครอบคลุม 50% ของประชากร โดยมาจาก 3 ช่องทาง คือ ช่องทางแรกผ่านโครงการ COVAX จำนวน 20 % โดยได้มีการเจรจากับโคแวกซ์หลายครั้ง เป็นการประสานหน่วยงานระหว่างประเทศ จึงอาจมีความยุ่งยากในการจองซื้อบางประการ แต่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาและรอความคืบหน้า
ช่องทางที่สอง การจองซื้อและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อให้สามารถผลิตในประเทศ โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส หรือ 20% ของประชากร และช่องทางที่ 3 จากบริษัทอื่นๆ อีก 10% โดยได้ติดตามผลการทดลองเป็นระยะ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญเรื่องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเองภายในประเทศที่จะมีประโยชน์ในระยะยาว ยืนยันว่าไม่ได้เลือกแค่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่มีการวางแผนล่วงหน้าและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือแนวทางตามสถานการณ์ เช่น มีการได้วัคซีนจากซิโนแวค มาฉีดในช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน และยังมีการเจรจาขอซื้อเพิ่มเติมจากแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อให้ได้วัคซีนครบ 50% ของประชากรในปลายปี 2564 และขยายให้ครอบคลุมประชาชนมากขึ้นในปีต่อไป ถือว่าไม่ได้ล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ แต่มีความรอบคอบในการดำเนินการ
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาวัคซีนทั่วไปใช้เวลาราว 10 ปี แต่การนำวัคซีนโควิด 19 มาฉีดให้คนไทย เป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน ได้ปรับกระบวนการต่างๆ ให้เร็วขึ้น แต่ยังคงความรอบคอบ โดยวัคซีนต้องมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ผ่านกระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้พิจารณา ไม่ดำเนินการไปตามกระแสกดดันหรือทำตามประเทศอื่น ขณะนี้มีบริษัทนำข้อมูลมายื่นขึ้นทะเบียนให้ อย.แล้ว 2 แห่ง โดยแอสตร้าเซนเนก้าก็อยู่ระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้ ยังมีการเจรจากับอีก 4 บริษัทเพิ่มเติม ซึ่งต้องนำข้อมูลหลักฐานมาแสดงกับ อย.ด้วย
สำหรับราคาของวัคซีนนั้น ช่วงต้นของการระบาดประมาณการว่าราคาวัคซีนต่อโดสอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท แต่จากการจองซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่ 5 ดอลลาร์ต่อโดส หรือประมาณ 150 บาท ถ้าเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆ จะเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความรอบคอบ ในการนำวัคซีนมาฉีดโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพความปลอดภัย เพื่อให้คนไทยได้รับการป้องกันโรคและมีความปลอดภัยในการได้รับวัคซีน
ด้านนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การที่บริษัท สยามไบโอไซนเอนซ์ จำกัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีศักยภาพและความพร้อมในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีรูปแบบ Viral Vector ในภาวะเร่งด่วนมากที่สุด โดยผ่านการประเมินคุณสมบัติจากแอสตร้าเซนเนก้า เช่น สามารถเป็นฐานการผลิตให้ได้ 200 ล้านโดสต่อปี เป็นต้น ไม่ใช่เลือกเอกชนรายใดก็ได้มาทำ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกือบ 600 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้แสดงเจตจำนงไว้ในสัญญาว่า เมื่อผลิตวัคซีนได้ตามมาตรฐานที่แอสตร้าเซนเนก้ากำหนด จะคืนวัคซีนให้เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับการสนับสนุน
*********************************** 19 มกราคม 2564
*************************************************