กระทรวงสาธารณสุข ทำแผนชาติ 5 ปี แก้ปัญหาโรคธาลัสซีเมีย ล่าสุดไทยมีคนที่มียีนพันธุกรรมโรคนี้โดยไม่แสดงอาการ แต่พร้อมถ่ายทอดสู่ลูกได้ 25 ล้านคน และมีผู้ป่วย 630,000 คน มีเด็กเกิดใหม่เป็นโรคนี้ปีละ 13,000 คน หรือเพิ่มชั่วโมงละเกือบ 2 คน แนะคู่สมรสที่วางแผนมีลูก ควรตรวจเลือดก่อน นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันธาลัสซีเมียโลก ซึ่งโรคธาลัสซีเมียเป็นโรคเลือดจางเรื้อรังทางพันธุกรรม พบได้ทั่วโลก แต่พบมากในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ ในไทยมีผู้เป็นโรคนี้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคแล้ว คือมีปัญหาซีด เลือดจางเรื้อรังประมาณ 630,000 ราย หรือประมาณร้อยละ 1 ของประชากร และกลุ่มที่มียีนธาลัสซีเมียแอบแฝง เรียกว่าเป็นพาหะโรค คือไม่มีอาการป่วย ร่างกายปกติ สุขภาพแข็งแรง แต่สามารถถ่ายทอดความผิดปกติไปสู่ลูกได้ ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ที่เป็นพาหะโรคนี้มากถึงร้อยละ 40 ของประชากร หรือประมาณ 25 ล้านคน ถือว่าสูงมากและเป็นอันดับหนึ่งของโลก หากไม่มีการควบคุมจำนวนคนที่เป็นพาหะก็จะเพิ่มมากขึ้น ทำให้เด็กเกิดใหม่เสี่ยงเป็นโรคธาลัสซีเมีย เติบโตช้ากว่าปกติ ร่างกายอ่อนแอ ป่วยบ่อย สำหรับในประเทศไทย ขณะนี้มีผู้เป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณร้อยละ 1 หรือประมาณ 630,000 คน ต้องรักษาตลอดชีวิต ในแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่เป็นโรคธาลัสซีเมียเพิ่มขึ้น 13,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 2 คน รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ประมาณปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท นายไชยา กล่าวต่อว่า ในการป้องกันปัญหา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนงานธาลัสซีเมียแห่งชาติ 5 ปี ระหว่างพ.ศ. 2550-2554 เพื่อลดจำนวนเด็กไทยเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง และให้การดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทุกแห่ง จัดระบบบริการป้องกัน ควบคุม และรักษาพยาบาลโรคธาลัสซีเมียที่ได้มาตรฐาน ให้บริการตรวจคัดกรองค้นหาคู่สมรสเสี่ยงมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง โดยให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์อนามัยทุกแห่ง ตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการได้ครบทุกขั้นตอนและมีมาตรฐาน ทำหน้าที่เป็นศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียของภูมิภาค และให้กรมอนามัยพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ รวมทั้งครูอนามัยเพื่อสอนโรค “ธาลัสซีเมีย” ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จะพัฒนาการวิจัยทางการแพทย์ด้านธาลัส ซีเมีย เพื่อการควบคุม ป้องกันและรักษาโรค คาดว่าภายในเวลา 5 ปี จะสามารถลดผู้ป่วยรายใหม่ชนิดรุนแรงลงร้อยละ 50 หรือลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ได้ไม่น้อยกว่า 6,500 ราย ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ไม่น้อยกว่า 32,197 ล้านบาท ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ที่มียีนธาลัสซีเมียเป็นพาหะ (carrier/trait) ซึ่งมีประมาณ 25 ล้านคน หากแต่งงานกันจะมีโอกาสได้ลูกเป็นโรคร้อยละ 25 และลูกมีโอกาสเป็นพาหะต่อร้อยละ 50 หากฝ่ายหนึ่งเป็นโรคและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพาหะ โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคและเป็นพาหะมีเท่าๆ กัน ในการป้องกันโรคนี้ ประชาชนสามารถหาความผิดปกติได้ ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยธาลัสซีเมีย ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คือ อายุ 15-59 ปี ทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะผู้ที่กำลังจะแต่งงาน หรือกำลังวางแผนจะมีลูก และผู้ที่มีญาติในครอบครัวเป็นพาหะหรือผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย โดยเข้ารับบริการปรึกษาและตรวจได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหรือโรงพยาบาลแม่และเด็กเดิมทั่วประเทศ ทั้งนี้ โรคธาลัสซีเมียที่พบบ่อยในประเทศไทยมี 4 ชนิด ชนิดที่ 1 อาการรุนแรงที่สุด เรียกว่า ฮีโมโกลบินบาร์ท ไฮดรอพส์ ฟิทัลลิส (Hemoglobin Bart’s Hydrops Fetalis) เด็กจะไม่มีโอกาสรอดชีวิต ส่วนแม่จะมีปัญหาแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ ครรภ์เป็นพิษ คลอดผิดปกติ และตกเลือดหลังคลอด ชนิดที่ 2 อาการรุนแรง เรียกว่า โฮโมชัยกัส เบต้า ธาลัสซีเมีย (Homozygous Beta-thalassemia) เด็กกลุ่มนี้แรกเกิดจะปกติ แต่จะเริ่มมีอาการซีดจนต้องได้รับเลือดภายใน 2 ขวบแรก ตัวเหลือง ท้องป่อง ตับม้ามโต จมูกแบน โหนกแก้มสูง คาง และขากรรไกรกว้าง ฟันบนยื่น กระดูกเปราะ หักง่าย ตัวเล็กและป่วยบ่อย เนื่องจากเลือดจางเรื้อรัง แต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดนี้ประมาณ 5,000 คน ชนิดที่ 3 มีอาการรุนแรงปานกลาง เรียกว่า เบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบิน อี (Beta-thalassemia/hemoglobin E) และชนิดที่ 4 มีอาการรุนแรงน้อย เรียกว่า ฮีโมโกลบินเอช (hemoglobin H) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการซีดเล็กน้อย บางครั้งมีอาการตัวเหลืองร่วมด้วย มักไม่จำเป็นต้องเข้ารับการดูแลรักษาเป็นพิเศษ ยกเว้นเมื่อมีไข้และเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อจะซีดมากทันที ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ควรดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่สะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่และนม ตลอดจนผักสดซึ่งมีโฟลิคสูง เช่น ผักบุ้ง ฟักทอง จะช่วยในการสร้างเม็ดเลือด หลีกเลี่ยงการทำงานหรือเล่นกีฬารุนแรง งดสูบบุหรี่และดื่มสุรา และพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อเติมเลือดให้หายซีด ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมกำลังผลิตยาขับเหล็กที่มีราคาถูกมาก ใช้ลดภาวะแทรกซ้อนของโรค และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ************************** 8 พฤษภาคม 2551


   
   


View 6    08/05/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ