รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งกองการประกอบโรคศิลปะตรวจสอบข้อเท็จจริง หาสาเหตุที่ทำให้นางสาวชไมภรณ์ หลับไม่รู้สึกตัวหลังผ่าตัดเสริมจมูกที่คลินิกเสริมความงาม ย่านรัชดาฯ และเร่งออกมาตรฐานห้องผ่าตัดในคลินิกทั่วประเทศ คาดประกาศใช้ทันในปีนี้ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน ด้านรองอธิบดีกรมการแพทย์ชี้ การผ่าตัดเสริมความงามเสี่ยงหลับไม่ตื่นได้ เพราะสมองขาดออกซิเจน จากอาการแทรกซ้อนยาชา ยาสลบ ต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิด ความคืบหน้ากรณีนางสาวชไมภรณ์ แก้วเกื้อ หรือน้องบุ๋ม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล นอนไม่รู้สึกตัวที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ นนทบุรี หลังผ่าตัดเสริมจมูกที่ ไนซ์ เบดิก คลินิก ย่านรัชดาภิเษก กทม. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 เป็นต้นมา นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในเช้าวันนี้ (8 พฤษภาคม 2551) ได้สั่งการให้นายแพทย์ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้นางสาวชไมภรณ์ไม่รู้สึกตัว ว่า มาจากผลของการทำผ่าตัดเสริมจมูก หรือเกิดมาจากการติดเชื้อโรคอย่างอื่น โดยได้รับรายงานจากนายแพทย์ธารา หลังตรวจสอบข้อเท็จจริงกับแพทย์เจ้าของไข้โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ที่ดูแลนางสาวชไมภรณ์ ว่า สาเหตุที่ไม่รู้สึกตัวเกิดจากติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบ ขณะนี้ให้ยารักษา อาการดีขึ้นเรื่อยๆ คนไข้สามารถนั่งเอนบนเตียง หายใจได้เอง เริ่มกินข้าวได้ นายไชยา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการจัดทำมาตรฐานการผ่าตัดในคลินิกต่างๆ รวมทั้งคลินิกเสริมความงาม ว่าจะต้องมีเครื่องมืออะไรบ้าง สามารถทำผ่าตัดได้มากน้อยแค่ไหน โดยได้ประชุมผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ แพทย์ทั่วไป สภาการพยาบาล ร่วมกันกำหนดมาตรฐาน คาดว่าจะเสร็จและประกาศใช้ทันในปีนี้ โดยในปี 2550 ทั่วประเทศมีคลินิกทุกประเภทขึ้นทะเบียนกับกองการประกอบโรคศิลปะ 17,396 แห่ง อยู่ในกทม. 3,781 แห่ง หรือร้อยละ 22 ที่เหลืออยู่ในภูมิภาค ทางด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การทำผ่าตัดเสริมจมูก เป็นศัลยกรรมตกแต่งที่มีการทำมากที่สุดในไทยขณะนี้ อาจเนื่องจากทำง่าย ราคาไม่แพง เกือบทั้งหมดใช้การเสริมด้วยสารซิลิโคน (medical grade silicone) ผ่านทางรอยผ่าตัดขนาดเล็กที่ด้านในของจมูก แผลผ่าตัดจะมองไม่เห็น การผ่าตัดส่วนใหญ่จะใช้วิธีฉีดยาชาเฉพาะที่ มีบางรายอาจใช้ยานอนหลับโดยการฉีดร่วมด้วย หลังผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้ทันที และแพทย์จะนัดดูแผลตัดไหมหลังผ่าตัดประมาณ 7 วัน ในกรณีฉีดยาชาเฉพาะที่หรือใช้ยานอนหลับร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีการแพ้ยาถึงชีวิตได้ เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด จึงควรมีผู้ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และระวังลิ้นตก อุดช่องทางเดินหายใจ หากนานเกิน 7-8 นาที อาจจะเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน ทำให้กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ไม่รู้สึกตัวได้ นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อว่า ผู้ที่ไม่ควรเสริมจมูก ได้แก่ ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติหรือเกร็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ผู้ที่เป็นภูมิแพ้และอยู่ในช่วงมีภาวะแพ้มาก เนื่องจากอาจทำให้แผลติดเชื้อจากการที่มีน้ำมูกไหลตลอดได้ รวมทั้งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น กินยาสเตียรอยด์ หรือติดเชื้อเอชไอวี เพราะการเสริมจมูก เป็นการใส่สารแปลกปลอมเข้าร่างกาย อาจทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น ******************8 พฤษภาคม 2551


   
   


View 6    08/05/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ