สธ. สอบสวนโรคกรณี เด็กนักเรียนระยอง 2 แห่ง ป่วยเป็นอุจจาระร่วงหลังร่วมงานกีฬาสี ส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง
- สำนักสารนิเทศ
- 763 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข แนะสถานศึกษาที่จะเปิดเรียนวันที่ 1 ก.พ.นี้ ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรค ปลอดภัยจากโควิด 19 เตรียมพร้อมและประเมินตนเองก่อนเปิดเรียนผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID เข้ม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และติดตามประเมินผลร่วมกัน โดยมีจิตอาสาผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียนทุกจังหวัดช่วยดูแลความปลอดภัย
วันนี้ (27 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเปิดเรียนรองรับการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด 19 มีผู้ติดเชื้อกลุ่มอายุ 0-18 ปี จำนวน 278 ราย โดยในระลอกแรก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 ธันวาคม 2563 มีการติดเชื้อ 207 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ส่วนระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ 71 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ ส่วนใหญ่ติดจากคนในครอบครัว สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่พบข้อมูลการติดเชื้อจากครูสู่นักเรียน
นพ.สราวุฒิกล่าวต่อว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีข้อเสนอให้สถานศึกษากลับมาเปิดการเรียนการสอน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเปิดเรียนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ยกเว้นจังหวัดสมุทรสาครที่ยังให้ปิดเรียนต่อ ส่วนพื้นที่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และปทุมธานี ให้เปิดการเรียนการสอนตามแนวทางป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีข้อปฏิบัติ 4 มาตรการ ดังนี้ 1.เตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียน ให้มีความปลอดภัย ลดการแพร่กระจายเชื้อ 2.โรงเรียนประเมินตนเองก่อนเปิดเรียนผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID 3.ยกระดับมาตรการความปลอดภัย ใช้ 6 มาตรการหลัก คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด และ 6 มาตรการเสริม คือ ดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลางส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนไทยชนะ สำรวจความเสี่ยงของนักเรียนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง และกักกันตนเอง 14 วันนับจากการสัมผัสหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด และ4.การกำกับติดตามและประเมินผลร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข โดยมีจิตอาสาผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียนทุกจังหวัดช่วยดูแลความปลอดภัย
นายแพทย์สราวุฒิกล่าวต่อว่า การเปิดเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดยังต้องคำนึงถึงเรื่องระยะห่างและลดความแออัด โดยจำนวนนักเรียนต่อห้องต้องมีความเหมาะสม และมีการระบายอากาศอย่างดี ควรปิดเครื่องปรับอากาศและระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมง รวมทั้งมีคู่มือสำหรับโรงอาหารและร้านอาหารที่ต้องปฏิบัติตาม อาหารต้องปรุงสุก ผู้สัมผัสอาหาร แม่ครัว ต้องตรวจสอบความเสี่ยงของตนเอง ถ้าเสี่ยงติดเชื้อต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่สัมผัสอาหารโดยตรง จัดที่นั่งรับประทานอาหารเว้นระยะห่าง ทำความสะอาดพื้นที่สัมผัสร่วมบ่อยๆ ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน
******************************** 27 มกราคม 2564
*******************************************