ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้โรคเบาหวานกำลังเล่นงานคนไทย ป่วยกว่า 3 ล้านคน กว่าครึ่งยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วย โดยคนกรุงเทพฯป่วยมากที่สุดในประเทศ ที่น่าวิตกกว่านั้นยังพบวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปีป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว คาดทั่วประเทศมีไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน จากโรคอ้วนเป็นเหตุ ย้ำเตือนผู้ป่วยเบาหวานอย่าเพิ่มขนาดยาลดน้ำตาล หรืออินสุลินตามใจอยากหายเร็ว โอกาสน็อคขั้นเสียชีวิต วันนี้ (13 ตุลาคม 2549)ที่ ห้องคอนเวนชั่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กทม. นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบรางวัลทีมสหวิชาชีพที่ชนะเลิศในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน (Terumo Diabetes Patient Care Team Award) ในงานประชุมวิชาการของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน ประจำปี 2549 เพื่อเป็นการเสริมความรู้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่ทันสมัย นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้โรคเบาหวานกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทวีความรุนแรงทั่วโลก เป็นภัยเงียบเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและมีโรคแทรกซ้อนที่อันตราย โดยจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ตั้งแต่ปี 2546-2548 มีประชากรโลกป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นร้อยละ 72 โดยในปี 2546 พบเพียง 189 ล้านคน แต่ในปี 2548 เพิ่มเป็น 324 ล้านคน หรือเท่ากับ 4 % ของประชากรทั่วโลก อยู่ในทวีปเอเชีย 156 ล้านคน และในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 3.2 ล้านคน สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยได้ในทุกกลุ่มอายุ มากสุดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60-69 ปี พบในหญิงมากกว่าชาย จากการสำรวจขณะนี้มีผู้ป่วย 3.2 ล้านคน โดยพบมากสุดในกรุงเทพมหานครร้อยละ 11 ในจำนวนที่ป่วยนี้ มีเพียง 1 ล้านกว่าคนเท่านั้นที่รู้ตัวว่าป่วย ที่เหลืออีกกว่า 2 ล้านคนไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวานมาก่อน รู้ตัวเมื่อไปตรวจโรคอื่น นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาควบคุมเบาหวานได้ดีเพียง 400,000 คนหรือเพียงร้อยละ 12 ของผู้ที่เป็นโรค ที่เหลือยังควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเช่นไตวาย โรคหัวใจ ตาบอด นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยเบาหวานบางรายใจร้อน อยากหาย โดยเพิ่มขนาดยาลดน้ำตาล เพิ่มขนาดอินซูลินฉีดเอง ทำให้เกิดอาการช็อค เสียชีวิต พบได้บ่อย และจากการสำรวจความชุกโรคเบาหวานในผู้มีอายุ 35 ปีขึ้นไปพบ มีประมาณ 2 ล้านคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ซึ่งหากไม่มีการป้องกันแก้ไข จะทำให้กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ต่อปี แต่หากมีการป้องกันโดยการปรับเปลี่ยนการกินอาหาร ให้ควบคุมน้ำหนักตัว ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที และลดน้ำหนักตัวลงให้ได้ร้อยละ 7 ของน้ำหนักตัวเดิม จะลดอัตราการเป็นเบาหวานได้มากถึงร้อยละ 58 ที่น่าวิตกมากกว่านั้น พบว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน นับวันจะมีอายุน้อยลง พบได้ในเด็ก และวัยรุ่นอายุ 15-29 ปี เกือบร้อยละ 2 หรือมีต่ำกว่า 2 แสนคน จากก่อนหน้านี้พบในวัย 40 ปีขึ้นไป โดยผลการสำรวจในรอบ 20 ปีมานี้ พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีป่วยเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 10 เท่า สาเหตุสำคัญที่สุดมาจากความอ้วน โดยขณะนี้เด็กไทยอายุ 2-18 ปี ซึ่งจำนวนประมาณ 18 ล้านคน เป็นโรคอ้วนมากถึงร้อยละ 8 ส่วนกลุ่มวัยรุ่นอายุ 13-18 ปีอ้วนร้อยละ 9 และเป็นวัยที่เป็นโรคอ้วนกันมากที่สุด และ 1 ใน 10 อยู่ในกรุงเทพมหานครซึ่งถือว่ามากที่สุด รองลงมา ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้มีงานวิจัยยืนยันตรงกันเด็กและวัยรุ่นที่อ้วน เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะอ้วนร้อยละ 30 โดยต้นเหตุของความอ้วน ส่วนใหญ่มาจากการขาดการออกกำลังกาย นั่งดูทีวีเล่นคอมพิวเตอร์ทั้งวัน กินขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า โรคเบาหวานเป็นภาวะผิดปกติของร่างกาย ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติที่พบทั่วโลกและในไทยขณะนี้เกิดจากพฤติกรรมมากถึงร้อยละ 80 จากกรรมพันธุ์เพียงร้อยละ 20 โดยระดับน้ำตาลในเลือดมีผลต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ยิ่งน้ำตาลในเลือดสูงมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากและเกิดเร็วขึ้น โรคนี้เป็นเรื้อรังที่ต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือตลอดชีวิต ซึ่งหากปฏิบัติตัวเคร่งครัดตามคำแนะนำแพทย์จะมีชีวิตเหมือนคนปกติได้ หากดูแลไม่ดี จะมีโรคแทรกซ้อนเกิดตามมาอีกที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไตเสื่อมพบร้อยละ 44 จอประสาทตาเสื่อมร้อยละ 30 หัวใจขาดเลือดร้อยละ 8 เป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ร้อยละ 4 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งให้ทุกจังหวัดรณรงค์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพิ่มการออกกำลังกาย ลดกินหวานทุกจังหวัด ตั้งคลินิกเบาหวานในโรงพยาบาลทุกแห่ง ขยายถึงศูนย์สุขภาพชุมชน ตั้งเป้าหมายจะลดอัตราป่วยจากแสนละ 410 คน ให้ไม่เกินแสนละ 392 คนภายในปี 2551 ทางด้านแพทย์หญิงอารยา ทองผิว นายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี จะเกิดโรคแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ไม่ทำให้สูญเสียชีวิตในทันที แต่ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง โดยโรคนี้จะทำให้เส้นเลือดแดงหนาและแข็งตัวผิดปกติ ทำให้หลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ไปเลี้ยงปลายขาตีบ ทำให้ขาดเลือด และเกิดเนื้อตาย เป็นแผลที่เท้า ทำให้เท้าเน่า ถึงขั้นต้องตัดทิ้งประมาณร้อยละ 2 ของผู้ป่วย และเกิดปัญหาตาบอดร้อยละ 1 เป็นต้น นอกจากนี้ เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงเกินปกติ ความดันโลหิตสูง นิ่วในถุงน้ำดี และติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากภูมิต้านทานโรคต่ำ โดยโรคเบาหวานจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนปกติ 2-4 เท่าตัว อัมพาต 5 เท่า และมีผู้เบาหวานที่สูงอายุมากกว่า 50 %เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านสังคม และเศรษฐกิจอย่างมหาศาลปีละไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาท เฉลี่ยรายละประมาณ 2,000 บาทต่อครั้งต่อราย และบางรายอาจหันไปพึ่งยาสมุนไพร ซึ่งมักแอบอ้างสรรพคุณว่ากินแล้วหาย 100 เปอร์เซ็นต์ ขอเตือนว่าอย่าไปหลงเชื่ออย่างเด็ดขาด เพราะเบาหวานไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เป็นความผิดปกติในการทำงานร่างกาย สำหรับการป้องกันโรคเบาหวานทำได้โดยรับประทานอาหารให้ถูกต้อง ลดอาหารจำพวกแป้งและไขมันเช่นกะทิ อาหารทอด เพิ่มการกินผักผลไม้ให้มากขึ้น ลดขนมหวาน ออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยตัวให้อ้วน หากพ่อหรือแม่เป็นเบาหวาน เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป หรือตั้งครรภ์ต้องระวังเป็นพิเศษ หรือ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหาย น้ำ หรือกินจุ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ปัสสาวะมีมดขึ้น ต้องรีบพบแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานต้องพบแพทย์สม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ตุลาคม3/4-5 ***************************** 13 ตุลาคม 2549


   
   


View 18    13/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ