กระทรวงสาธารณสุขห่วงบุคลากรทางการแพทย์ ให้เพิ่มความระมัดระวังป้องกันตนเองขณะปฏิบัติงาน ขอความร่วมมือประชาชนประเมินและแจ้งประวัติเสี่ยง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคถูกต้อง ลดการแพร่-รับเชื้อเผยมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด 19 แล้ว 36 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นพยาบาล

         วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์  พร้อมด้วยนายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยนายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของนายแพทย์ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์รายแรกของประเทศไทยที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 โดยจากรายงานการสอบสวนโรค พบว่า นายแพทย์ปัญญา อายุ 66 ปีมีโรคประจำตัวที่รับการรักษาต่อเนื่อง คือ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และถุงลมในปอดโป่งพอง ติดเชื้อโควิด 19 จากการรักษาผู้ป่วย 3 รายที่คลินิกส่วนตัว ทราบภายหลังว่าทั้ง 3 รายตรวจพบเชื้อโควิด 19โดย 1 ใน 3 ราย มีอาการไข้ต่อเนื่องหลายวัน จึงได้ทำการตรวจอย่างละเอียด อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น ตรวจการอักเสบภายในลำคอ การเคลื่อนไหวของลิ้นไก่ ทดสอบการหายใจเพื่อฟังเสียงของปอด เช็คภาวะปอดอักเสบจึงอาจสัมผัสกับละอองฝอยหรือน้ำลายผู้ป่วยที่มีเชื้อโควิด 19 ที่ตกอยู่ หรือผ่านทางรอยต่อของหน้ากากอนามัยได้

          นายแพทย์ณัฐพงศ์กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนแก่บุคลากรทางการแพทย์ ในการเพิ่มความระมัดระวังป้องกันตนเอง โดยเฉพาะขณะให้การรักษาผู้ป่วย แม้มีอุปกรณ์ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อ ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดอุปกรณ์ กำจัดขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี รวมถึงจัดสถานที่ให้เหมาะสม จัดระบบระบายอากาศ เว้นระยะห่างกับผู้ป่วย สำหรับประชาชน ขอให้ดูแลสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งมีภูมิต้านทานน้อยกว่าปกติ มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย หลีกเลี่ยงหรืองดไปในพื้นที่เสี่ยง สถานที่แออัด สวมหน้ากากและหมั่นล้างมือเป็นประจำ หากมีความจำเป็นต้องไปสถานพยาบาล โรงพยาบาล คลินิก
ทั้งภาครัฐและเอกชน ควรประเมินและแจ้งประวัติความเสี่ยงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ระมัดระวัง ช่วยลดการแพร่-รับเชื้อได้ 

          ด้านนายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 150 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 38 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 104 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 249 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 - 18 กุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวน 20,874 ราย หายป่วยสะสม 19,769 ราย ยังอยู่ระหว่างการรักษา 1,083 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 22 รายตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ (วันที่ 15  ธันวาคม 2564 – ปัจจุบัน) ได้รับรายงานบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด 19 แล้วจำนวน 36 ราย อายุเฉลี่ย 36 ปี (ต่ำสุด 21 ปี สูงสุด 70 ปี) เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานตั้งแต่ 20 ปี – 49 ปี เป็นพยาบาล 9 ราย  แพทย์ และ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอย่างละ 4 ราย, เภสัชกร 3 ราย, นักเทคนิครังสี/ผู้ช่วยนักเทคนิครังสี 2 ราย, ทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักศึกษาแพทย์ พนักงานเวรเปลอย่างละ 1 ราย , เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ธุรการ ชันสูตรศพรวม 8 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสจากผู้ป่วย หรือใกล้ชิดคนในครอบครัว ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย ล่าสุดพบนักศึกษาแพทย์คาดว่าติดเชื้อจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา จึงขอความร่วมมือผู้ป่วยและญาติเมื่อเข้ารับรักษาหรือพบแพทย์ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยของตนเองและบุคลากรทางการแพทย์

          ส่วนข้อกังวลเรื่องการขาดแคลน หลอดฉีดยาและเข็มฉีดยาเมื่อต้องมีการจัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จำนวนมากให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในประเทศ นั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า เมื่อวัคซีนมาถึงเข็มฉีดยาและหลอดฉีดยาจะมีเพียงพอ โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดเตรียมชุดสำหรับฉีดยา สั่งซื้อจากโรงงานผู้ผลิตในประเทศสำหรับวัคซีน 2 ล้านโดสแรกไว้แล้ว 2.6 ล้านชุด ส่วนอีกกว่า 60 ล้านโดส ที่จะฉีดในระยะต่อไป ได้สั่งจองภายในประเทศแล้วเช่นกัน พร้อมจัดส่งทันเวลาการฉีดวัคซีน

 ************************** 18 กุมภาพันธ์ 2564

*************************************************



   
   


View 1259    18/02/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ