กระทรวงสาธารณสุข วางแผนรับมือป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลไชโยและโรงพยาบาลโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทาอง พร้อมขนย้ายผู้ป่วยทันที ขณะเดียวกันขอรับบริจาคเสื้อ-กางเกงผ้ายืด ผ้าอนามัย ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงดำ ผ้าห่ม ยากันยุง ไม้ขีดไฟ ที่ อย. เผยยอดผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมมีกว่า 3 แสนรายแล้ว โดยถูกสัตว์มีพิษกัดกว่าหมื่นราย เครียดกว่า 2 หมื่นราย
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า ปัญหาที่พบขณะนี้จะเป็นโรคน้ำกัดเท้า ผื่นคันตามตัว เนื่องจากชาวบ้านต้องลุยน้ำ แช่น้ำนาน ส่วนโรคติดต่อ เช่น โรคตาแดง พบประมาณร้อยละ 10 ได้ระดมหน่วยแพทย์ออกให้บริการเต็มที่ ตลอดวันที่ 13 ตุลาคม 2549 มีหน่วยแพทย์ออกบริการกว่า 300 ทีม ให้การรักษาผู้เจ็บป่วยรวม 20,094 ราย ผู้ป่วยสะสมตลอดกว่า 1 เดือนมีทั้งหมด 308,777 ราย จากการแยกวิเคราะห์โรค พบโรคน้ำกัดเท้า 129,907 ราย มากที่สุดที่ นนทบุรี อ่างทอง และสุโขทัย โรคเครียด 20,207 ราย พบมากที่สุโขทัย อ่างทอง และชัยนาท โรคตาแดง 11,547 ราย พบมากที่พิษณุโลก อยุธยา และอ่างทอง และถูกสัตว์มีพิษกัด เช่น ตะขาบ แมลงป่อง ต่อ 10,681 ราย พบมากที่นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และอยุธยา ไม่มีใครเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ประชาชนเดือนร้อนในเรื่องของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อ-กางเกง ซึ่งควรเป็นผ้ายืด เพราะจะใส่ได้ทุกวัยทุกขนาด ผ้าอนามัย ถุงขยะ ยากันยุง ผ้าห่ม ไม้ขีดไฟ มุ้ง ยาสีฟัน น้ำดื่ม สบู่ ผ้าอ้อมสำเร็จรูปทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ที่เป็นอัมพาต เคลื่อนไหวลำบาก กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เปิดรับบริจาคสิ่งของดังกล่าว ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา วันหยุดเปิดรับตั้งแต่ 09.00-17.00 น. วันธรรมดาเปิดรับในเวลาราชการ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-7096 , 0-2590-7104 , 0-2590-7105 และเปิดรับบริจาคเงินผ่านทางบัญชี กระทรวงสาธารณสุขเพื่อผู้ประสบภัย เลขที่บัญชี 340-2-11600-7 บัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขากระทรวงสาธารณสุข
ด้านนายแพทย์ถวัลย์ พบลาภ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า จากสภาพน้ำท่วมที่ขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มีโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลไชโย และโรงพยาบาลโพธิ์ทอง โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลโพธิ์ทอง คาดว่าน้ำอาจจะเข้าท่วมโรงพยาบาลในช่วงเย็นวันนี้ ได้ระดมเจ้าหน้าที่ขนย้ายเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ไว้ในที่สูง และทำแนวป้องกันน้ำท่วมโดยรอบโรงพยาบาล รวมทั้งเครื่องปั่นไฟฟ้า และได้ประสานงานเตรียมขนย้ายผู้ป่วยที่นอนรักษาอยู่ 20 ราย หากน้ำท่วมจะส่งต่อไปที่โรงพยาบาลวิเศษชัยชาญ และโรงพยาบาลแสวงหา จ.อ่างทอง โรงพยาบาลท่าช้าง จ.สิงห์บุรี และหากเป็นผู้ป่วยหนักจะส่งไปที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี ส่วนที่โรงพยาบาลอ่างทอง ได้ทำแนวป้องกันไว้อย่างเต็มที่แล้ว คาดว่าจะรับมือปัญหาน้ำท่วมโรงพยาบาลได้เช่นกัน
************************************* 14 ตุลาคม 2549
View 13
14/10/2549
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ