กระทรวงสาธารณสุข สรุปยอดผู้เจ็บป่วยจากวิกฤติน้ำท่วมขณะนี้ มีกว่า 3 แสน 3 หมื่นราย ร้อยละ 60 เป็นโรคน้ำกัดเท้า ผื่นคันตามตัว ส่วนโรคติดต่อที่สำคัญคือ โรคตาแดง อุจจาระร่วง พบเพียงร้อยละ 6 ไม่มีปัญหาการระบาด ด้านผลกระทบสถานบริการสาธารณสุข แม้ถูกน้ำท่วม 79 แห่ง แต่ยังเปิดบริการได้ตามปกติ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดูแลสุขภาพประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ว่า กระทรวงสาธารณจัดหน่วยแพทย์ออกให้บริการรักษาพยาบาลฟรีทุกวัน ทั้งทางเรือและทางรถยนต์ วันละกว่า 250 ทีม โรงพยาบาลทุกแห่งเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดวันที่ 14 ตุลาคม 2549 ได้บริการรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วยรวม 26,772 ราย ทั้งหมดเป็นการเจ็บป่วยที่พบทั่วๆ ไป อาการไม่รุนแรงอย่างใด สรุปจนถึงวันนี้มีผู้ประสบภัยเจ็บป่วยจากน้ำท่วมทั้งหมด 335,002 ราย โรคที่พบมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้าและผื่นคัน 187,226 ราย หรือประมาณร้อยละ 60 ของผู้รับบริการทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ไข้หวัด 40,493 ราย เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ 22,144 ราย โรคตาแดง 12,653 ราย และโรคอุจจาระร่วง 7,592 ราย ถูกสัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบกัด 11,704 ราย ทั้งนี้ จำนวนผู้เจ็บป่วยแยกรายจังหวัดมีดังนี้ นนทบุรี 76,323 ราย จันทบุรี 45,557 ราย พระนครศรีอยุธยา 25,977 ราย นครสวรรค์ 24,072 ราย พิษณุโลก 24,053 ราย สุโขทัย 23,165 ราย อ่างทอง 20,148 ราย พิจิตร 19,000 ราย สิงห์บุรี 18,522 ราย ชัยนาท 17,246 ราย ปราจีนบุรี 10,107 ราย สุพรรณบุรี 9,016 ราย นครราชสีมา 2,529 ราย ลพบุรี 3,797 ราย ปทุมธานี 2,545 ราย ฉะเชิงเทรา 2,025 ราย สระบุรี 1,841 ราย เชียงใหม่ 901 ราย เลย 887 ราย ชัยภูมิ 828 ราย เชียงราย 240 ราย อุบลราชธานี 594 ราย และชลบุรี 301 ราย นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า โรคติดต่อที่พบขณะนี้ คือโรคตาแดงและโรคอุจาระร่วง ซึ่งมีเพียงร้อยละ 6 สามารถควบคุมได้ ยังไม่มีการระบาดแต่อย่างใด ปัญหาหลักๆ เกิดมาจากการรับประทานอาหารและน้ำไม่สะอาด รวมทั้งนำน้ำไม่สะอาดมาล้างหน้า ได้ให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรคติดต่อออย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำประชาชนในการป้องกันโรคทุกวันอย่างต่อต่อเนื่อง รวมทั้งได้แจกสารส้มและคลอรีนกว่า 1,400 กิโลกรัม เพื่อใช้ปรับสภาพน้ำ ฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำท่วม ให้สะอาดก่อนนำมาใช้ในครัวเรือน สำหรับสถานบริการในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ทุกแห่งเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้น้ำท่วมอย่างเต็มที่ เพื่อลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด โดยขณะนี้มีสถานบริการถูกน้ำท่วมทั้งหมด 79 แห่ง เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ริมน้ำและอยู่ในที่ลุ่ม ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาล 1 แห่ง คือโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จ.พิจิตร ที่เหลือเป็นสถานีอนามัย ในจำนวนนี้อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 23 แห่ง นครสวรรค์ 22 แห่ง สิงห์บุรี 10 แห่ง อ่างทอง 6 แห่ง พิจิตร 5 แห่ง นนทบุรี 4 แห่ง ชัยนาท 3 แห่ง จันทบุรี 2 แห่ง สุโขทัย ปทุมธานี และปราจีนบุรีจังหวัดละ 1 แห่ง ทั้งหมดนี้สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ******************************** 15 ตุลาคม 2549


   
   


View 10    15/10/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ