กระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เพิ่มวันละ 41 คน เหตุจากค่านิยมการมีกิ๊กและเด็กไทยมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น โดยไทยจะประกาศผลการทดลองวัคซีนเอดส์ระยะที่ 3 สายพันธุ์อีและบี ในกลุ่มอาสาสมัครใหญ่ที่สุดในโลกเกือบ 20,000 คน ที่ชลบุรีและระยองในปีหน้านี้ คาดคนไทยมีวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ ใช้เป็นมาตรการเสริมลดการติดเชื้อเอดส์ในอนาคต
วันนี้ (14 พฤษภาคม 2551) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเยี่ยมชมจุดปฏิบัติการทางคลินิกของโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลอง ระยะที่ 3 ที่โรงพยาบาลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ว่า ในวันที่ 18 พฤษภาคมของทุกปี สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อ สหรัฐอเมริกา กำหนดให้เป็นวันวัคซีนเอดส์โลก (HIV Vaccine Awareness Day 2008) เพื่อขอบคุณอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้วงการแพทย์สามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันเอดส์จนกว่าจะเป็นผลสำเร็จ หลังจากที่รู้จักกับโรคนี้มานานกว่า 25 ปี ยูเอ็นเอดส์รายงานว่าในปี 2550 มีผู้ติดเชื้อเอดส์ทั่วโลก 33 ล้านกว่าคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 6,800 คน เฉลี่ยนาทีละเกือบ 5 คน
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมศึกษาพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์มานานกว่า 10 ปี มีโครงการวิจัยทั้งหมด 13 โครงการ ในจำนวนนี้มีโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลอง ระยะที่ 3 ที่กำลังทดสอบในกลุ่มประชาชนที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี 16,402 คน ในจังหวัดชลบุรีและระยอง เป็นโครงการศึกษาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ สายพันธุ์อีและบี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดมากที่สุดในไทย ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นโครงการวิจัยระยะที่ 3 หนึ่งเดียวในโลก ที่ยังคงดำเนินการอยู่ โดยได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัคร นักวิจัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และประชาชนในพื้นที่ศึกษาเป็นพลังสนับสนุนอย่างดีมาก ได้เริ่มวิจัยตั้งแต่พ.ศ. 2546 ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการติดตามผล การดำเนินการทดลองของไทยครั้งนี้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการติดตามกำกับข้อมูลและความปลอดภัย ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญไทยและต่างชาติ และให้ไทยดำเนินการวิจัยต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ โดยจะประกาศผลการทดลองในปี 2552
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ปัญหาโรคเอดส์ยังไม่คลี่คลาย ไทยมีผู้ติดเชื้อเอดส์สะสมประมาณ 1.1 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละประมาณ 15,000 คน เฉลี่ยวันละ 41 คน และจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เด็กวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น ค่านิยมการมีกิ๊ก มองเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ จึงทำให้การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ทวีความรุนแรงขึ้นในกลุ่มที่มีอายุน้อยลง แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันควบคุมป้องกันปัญหาเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง จนประสบผลสำเร็จที่ประชาคมโลกชื่นชมยกย่อง เช่น การรณรงค์ใช้ถุงยางอนามัย การจัดระบบบริการสุขภาพดูแลรักษาผู้ป่วยและให้ยาต้านไวรัส แต่พบว่ายังไม่เพียงพอที่จะควบคุมการระบาดของเชื้อเอชไอวีได้ จึงต้องมีการทดลองศึกษาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์มาใช้เป็นมาตรการเสริมในอนาคต เพื่อลดผู้ติดเชื้อรายใหม่
การทดลองได้รับความร่วมมือทั้งจากกลุ่มอาสาสมัครและชุมชนอย่างมาก ชาวชลบุรีและระยองต่างมั่นใจในความปลอดภัยของการทดลอง ตั้งตารอคอยผลการวิจัยพร้อมกับคนทั่วโลก และภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการวิจัยระดับโลกครั้งนี้ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว
ทางด้านนายแพทย์ศุภชัย ฤกษ์งาม ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลอง ระยะที่ 3 กล่าวว่า โครงการนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทดสอบวัคซีนก่อนนำมาใช้จริง เพื่อศึกษาว่าวัคซีนสามารถป้องกันโรคเอดส์ได้หรือไม่ เป็นการวิจัยแบบปกปิด 2 ด้าน คือ แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะได้รับวัคซีนเอดส์ทดลอง อีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับสารเลียนแบบที่ไม่ใช่วัคซีน และใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างจากคอมพิวเตอร์ เพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียง ใช้เวลาฉีดต่อเนื่องกัน 6 เดือน จากนั้นจะติดตามผล และตรวจเลือดของอาสาสมัครทุกๆ 6 เดือน ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี
วัคซีนที่ใช้ศึกษามี 2 ชนิด คือวัคซีนปูพื้นและวัคซีนกระตุ้น ซึ่งวัคซีนปูพื้นใช้วัคซีนอัลแวค ของบริษัท อเวนติส ปาสเตอร์จากฝรั่งเศส ทำหน้าที่กระตุ้นร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในเซลล์ หลังฉีดวัคซีนปูพื้นแล้ว อาสาสมัครจะได้รับการฉีดวัคซีนเอดส์แวกซ์ ของบริษัทแว็กซ์เจน อิ๊งค์จากสหรัฐอเมริกา เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างระบบภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดขึ้นมา วัคซีนดังกล่าวไม่ได้ทำจากเชื้อเอดส์ อาสาสมัครจึงไม่มีโอกาสติดเอดส์จากวัคซีนนี้แน่นอน
อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการฯ อายุระหว่าง 18-30 ปี เป็นผู้ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี คัดกรองอาสาสมัคร 26,675 ราย จากผู้สนใจกว่า 60,000 ราย และรับอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการครบตามเป้าหมาย 16,402 ราย เมื่อ 30 ธันวาคม 2546 โดยอาสาสมัครได้รับวัคซีนครบตามกำหนด 4 ครั้ง จำนวน 13,976 ราย เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2549 หลังฉีดวัคซีนครบแล้ว ส่วนใหญ่ผ่านการติดตามผล 1 ปี ขณะนี้อยู่ในระยะติดตามผลของอาสาสมัครแต่ละรายทุก 6 เดือน โดยอาสาสมัครรุ่นแรกๆหลังการฉีดวัคซีนแล้วได้รับการติดตามผลครบกำหนด 3 ปีแล้วประมาณ 6,000 คน
นายแพทย์ศุภชัย กล่าวต่อว่า ในการประเมินผลวัคซีน จะเปรียบเทียบกับอัตราการติดเชื้อรายใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำรงชีวิตตามปกติของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม หลังจากที่อาสาสมัครทุกรายติดตามผลจนครบ 3 ปี แล้ว จะมีการเปิดรหัสว่าอาสาสมัครรายใดได้รับวัคซีนหรือสารเลียนแบบ หากมีผู้ติดเชื้อในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริง น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับสารเลียนแบบซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน 50 เปอร์เซ็นต์ ก็สรุปได้ว่า วัคซีนมีผลในการป้องกัน แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนและกลุ่มฉีดสารเลียนแบบไม่แตกแตกต่างกัน สรุปได้ว่าวัคซีนไม่มีผลในการป้องกันโรค ไม่ว่าผลจะออกมาประการใด ผลที่ได้จากการใช้พื้นที่ทดลองในไทยทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับการพัฒนาศักยภาพ ชุมชนได้รับการอบรมความรู้โรคเอดส์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศดีขึ้น ซึ่งทำให้อัตราการติดเอดส์ลดลงได้ส่วนหนึ่ง
**************************** 14 พฤษภาคม 2551
View 7
14/05/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ