กระทรวงสาธารณสุขเผยสมุทรสาครแนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิดลดลง ยังเฝ้าระวังเข้มทั้งโรงงาน ชุมชน และตลาด คาดฉีดวัคซีนครบ 100% ในสัปดาห์หน้า ด้านแพทย์โรคติดเชื้อแจง ไทยชะลอฉีดวัคซีนรอผลสอบสวนเป็นเรื่องเหมาะสม

           วันนี้ (12 มีนาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 และ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ใน จ.สมุทรสาครและผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในยุโรป

          นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ใน จ.สมุทรสาคร เริ่มต้นจากตลาดกลางกุ้ง ได้ระดมมาตรการต่างๆ ทำให้ควบคุมโรคได้ดี มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง ผู้ติดเชื้อรายวันมีจำนวนไม่มาก และยังคงตรวจเฝ้าระวังเชิงรุกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนโรงงานที่เคยตรวจพบการติดเชื้อจำนวน 273 แห่ง หลังสอบสวนควบคุมโรคพบว่า 226 แห่งไม่มีการแพร่ระบาด จากการสุ่มตรวจซ้ำ 55 แห่ง พบ 41 แห่งไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนที่ยังมีผู้ติดเชื้อได้ดำเนินการควบคุมโรคต่อไป ดังนั้น จึงยังต้องเฝ้าระวังในส่วนของโรงงาน ชุมชน และตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ถือว่าการควบคุมโรคประสบความสำเร็จจึงทยอยปิด รพ.สนาม โดยจะคงเหลือไว้ 2 พันเตียง

         นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 5 มีพื้นที่ติดแนวชายแดนเมียนมาระยะยาวหลายจังหวัด จึงให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น และทำการการค้นหาผู้ติดเชื้อในโรงงาน ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยปอดอักเสบ สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ ป้องกันการแพร่ระบาด คือสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และเฝ้าระวังเชิงรุก

          ส่วนการตรวจหาภูมิคุ้มกันกลุ่มแรงงานดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม จะทราบผลเร็วๆ นี้ สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันมี 3 จังหวัดฉีดได้ตามเป้าหมายแล้ว คือ นครปฐม สมุทรสงคราม และราชบุรี ส่วนสมุทรสาครคาดว่าจะฉีดครบ 35,000 คนในสัปดาห์หน้า ขอเชิญกลุ่มที่ได้รับกำหนดให้เป็นผู้ได้รับวัคซีนกลุ่มแรก เข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็วเพื่อช่วยกันป้องกันโรค  ระบบสาธารณสุข และความมั่นคงของประเทศ

          ด้านนพ.ทวีกล่าวว่า กรณีประเทศฝั่งยุโรปชะลอการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อรอผลการสอบสวนว่าการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น 22 ราย จาก 3 ล้านโดส คิดเป็น 7.3 รายต่อ 1 ล้านโดส ถือว่าน้อยมาก เพราะปกติโรคนี้ในยุโรปพบได้ 1,000 รายต่อประชากร 1 ล้านคนต่อปี แต่ต้องรอการสอบสวนโรคให้มีความกระจ่างและความมั่นใจแก่ทุกคน ทั้งนี้ โรคลิ่มเลือดอุดตันมักเกิดขึ้นใน 1.ผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะยิ่งอายุมากเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ทำให้เลือดไหลช้า 2.เชื้อชาติโดยคนยุโรปและแอฟริกันมีโอกาสเกิดมากกว่าเอเชีย  3-5 เท่า  3.โรคเบาหวาน ทำให้เส้นเลือดฝอยมีการเปลี่ยนแปลง และ 4.โรคหัวใจ ความดันโลหิต มะเร็ง โรคติดเชื้อต่างๆ และหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสได้ง่าย ส่วนเอเชียและไทยพบน้อยมาก

          “ในความเห็นตนคาดว่า การเกิดลิ่มเลือดอุดตันอาจเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุ แต่หากเป็นในคนหนุ่มสาวจำนวนมากจะน่ากังวลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ากว่า 34 ล้านโดส หลายประเทศไม่มีรายงานอาการนี้ ขณะนี้มี 2 ประเทศที่ยังฉีดต่อ คือ แคนาดาและออสเตรเลีย ส่วนไทยยังรอการสอบสวนของยุโรปว่าเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถรอการฉีดวัคซีนได้ 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากสถานการณ์สมุทรสาครที่เคยระบาดสูงก็ควบคุมได้ เมื่อผลสอบสวนออกมาแน่ชัดก็จะสร้างความมั่นใจ อย่างวันนี้ตนตั้งใจจะมาฉีดวัคซีนด้วย หากกลับมาเริ่มฉีดใหม่ได้ก็พร้อมรับวัคซีนเช่นเดิม” นพ.ทวีกล่าว

************************************* 12 มีนาคม 2564



   
   


View 907    12/03/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ