นายกฯ ห่วงใย "น้ำท่วม" 5 จังหวัดภาคใต้ กำชับ สธ.ดูแลผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกาย-จิต เน้นกลุ่มเปราะบางใกล้ชิด
- สำนักสารนิเทศ
- 44 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนุนการเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ สมุนไพร กัญชา กัญชง ทางการแพทย์ จับมือวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชากว่า 300 กลุ่ม นำมาผลิตน้ำมันกัญชา ยากัญชาแผนไทย รักษาในกลุ่มโรคต่างๆ ปัจจุบันมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์รวม 758 แห่ง การรักษาได้ผลดีมากกว่าร้อยละ 74
วันนี้ (14 มีนาคม 2564) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษารัฐมนตรี และคณะผู้บริหารติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ กัญชาทางการแพทย์ของจังหวัดน่าน ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตน่าน และโรงพยาบาลน่านและให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพจากสมุนไพร กัญชา กัญชง ทางการแพทย์ รวมทั้งเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอย่างปลอดภัย ในระยะแรกได้เร่งรัดให้ประชาชนเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ปัจจุบันมีคลินิกให้บริการกัญชาทางการแพทย์รวม 758 แห่ง เป็นแพทย์แผนปัจจุบัน 339 แห่ง และแพทย์แผนไทย 419 แห่ง ผลการรักษาพบว่าได้ผลดีมากกว่าร้อยละ 74 โดยในอนาคตเปิดบริการในโรงพยาบาลทุกแห่งตามความพร้อม เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาให้กับประชาชน
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข มี “สถาบันกัญชาทางการแพทย์” ขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ นําไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และให้ประชาชนสามารถใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชา กัญชง ไปประกอบอาหาร ทํายารักษาโรค และผลิตภัณฑ์ต่างๆได้อย่างถูกกฎหมาย ปลอดภัย โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 300 กลุ่ม นำมาผลิตเป็นน้ำมันกัญชา และส่วนผสมของยากัญชาแผนไทย รักษาในกลุ่มโรคต่างๆ อาทิ โรคลมชัก โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง, โรคมะเร็ง, นอนไม่หลับ, ปวดเรื้อรัง เป็นต้น
“จากการตรวจเยี่ยมพบว่า จ.น่านมีความก้าวหน้าในการเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ เช่นที่ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน” อ.ภูเพียง ได้เพิ่มมูลค่าพืชสมุนไพร ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหาร สร้างรายได้ให้กับชุมชนไม่ต่ำกว่า 15.6 ล้านบาทต่อปี เป็นตัวอย่างของการสร้างมูลค่าเพิ่มของพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ในส่วนของกัญชาทางการแพทย์ ปัจจุบันมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ 13 แห่ง ในปีงบประมาณ 2563 มีประชาชนสนใจเข้ารับบริการจำนวน 176 ราย ส่วนใหญเป็นผู้ป่วยระยะประคับประคอง รองลงมาคือ นอนไม่หลับ และปวดเรื้อรังตามลำดับ จ่ายยารักษา 148 ราย การรักษาได้ผลดี เตรียมขยายบริการให้ครบทุกพื้นที่ต่อไป”ดร.สาธิต กล่าว
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่าด้านการวิจัยสนับสนุนให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อสวก อ.เมืองน่าน ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ชมรมการแพทย์แผนไทยตำบลบ่อสวก และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน และบริษัทบีสโปค ไลฟ์ ไซแอนซ์ จำกัด นำร่องโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พัฒนา ปลูก ผลิต สกัด และแปรรูป กัญชงและกัญชาทางการแพทย์ ศึกษาผลผลิตและสารสำคัญของกัญชาสายพันธุ์นำเข้า ขยายการผลิตของสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง และพัฒนาสกัดไปใช้ประโยชน์เพื่อการแพทย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ต่อไป
********************************** 14 มีนาคม 2564
*********************************