“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 13 View
- อ่านต่อ
สถาบันวัคซีนแห่งชาติเผยความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมทั้งอัพเดตข้อมูลประเด็นความปลอดภัยของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยให้ข้อมูลว่า ทั้งองค์การอนามัยโลก และหน่วยงานกำกับคุณภาพยาของสหภาพยุโรป (EU) มีข้อแนะนำให้แต่ละประเทศดำเนินการฉีดวัคซีนต่อไป ภายหลังจากคณะผู้เชี่ยวชาญได้ทำทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัยแล้ว ระบุว่าไม่พบความเกี่ยวข้องกับกรณีการเกิดลิ่มเลือดภายหลังการฉีดวัคซีนตามที่เป็นข่าว
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยว่า การผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในไทย มีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยการดำเนินการผลิตวัคซีนของสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับการควบคุมคุณภาพอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญของแอสตร้าเซนเนก้าให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัท นอกจากนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการติดตามความก้าวหน้าของการผลิตวัคซีนจากการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน สยามไบโอไซเอนซ์ ได้ทยอยผลิตวัคซีนตั้งแต่ระดับต้นน้ำแล้วจำนวน 5 รุ่นการผลิต และอยู่ระหว่างการส่งตรวจคุณภาพวัคซีนที่ผลิตได้ ณ ห้องปฏิบัติการ อ้างอิงในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา พร้อมกันนี้ หน่วยงานควบคุมกำกับในประเทศ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการดำเนินการ และสามารถส่งมอบวัคซีนได้ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งกำหนดการส่งมอบวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าให้แก่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อยู่ในช่วงกลางปี 2564 โดยจะทยอยส่งมอบในอัตราเดือนละ 5-10 ล้านโด๊ส จนครบ 61 ล้านโด๊ส ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนการฉีดวัคซีนของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ สยามไบโอไซเอนซ์เป็นบริษัทผู้ผลิตยาและชีววัตถุ ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 25 ฐานการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยเป็นโรงงานที่ได้รับการเสริมศักยภาพจากที่มีอยู่เดิม ไม่ใช่การสร้างโรงงานใหม่ตามที่มีหลายฝ่ายเข้าใจ โดยสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับการประเมินจากแอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่ปลายไตรมาสที่สองของปี 2563 ภายใต้การพิจารณาองค์ประกอบหลายด้าน ได้แก่ ด้านศักยภาพและความเชี่ยวชาญของบุคลากร ความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์การผลิต การผ่านการรับรองมาตรฐานและคุณภาพการผลิตระดับสากล ฯลฯ และได้รับการคัดเลือกเป็นฐานการผลิตวัคซีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเดือนกันยายน 2563 โดยเริ่มการถ่ายทอดเทคโนโลยีในราวต้นเดือนตุลาคม 2563 จนสามารถเริ่มการผลิตจริงในราวกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
สำหรับประเด็นชะลอการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากมีรายงานการเกิดภาวะการเกิดลิ่มเลือดภายหลังการฉีดวัคซีนซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบที่ประเทศเดนมาร์กและนอร์เวย์นั้น องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานกำกับคุณภาพยาของสหภาพยุโรป (EU) ได้ให้การยืนยันว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับวัคซีนจากบริษัทอื่นที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าได้มีการฉีดให้กับประชาชนในสหราชอาณาจักรแล้ว มากกว่า 16 ล้านโดส จากข้อมูลไม่พบความกังวลด้าน ความปลอดภัยของวัคซีน จึงมีข้อแนะนำให้แต่ละประเทศดำเนินการฉีดวัคซีนต่อไปได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้พิจารณาเริ่มการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าตามข้อแนะนำของหน่วยงานข้างต้น พร้อมกับการวางมาตรการติดตามด้านความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับประชาชนไทย
ส่วนการจัดหาวัคซีนอื่นที่จะนำมาฉีดให้แก่ประชาชนเฉพาะในช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2564 นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหาวัคซีนจากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน จำนวน 2 ล้านโดส เพื่อใช้ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์การระบาดของโรค ส่วนการส่งมอบวัคซีนล่าช้ากว่าแผนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่วัคซีนมีจำนวนจำกัด ขณะที่ความต้องการวัคซีนมีสูงมาก และประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศได้ทำการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าในจำนวนที่มากกว่าประชากรในประเทศหลายเท่าตัว ทั้งนี้การจัดหาวัคซีนโควิด 19 ในช่วงที่มีภาวะฉุกเฉิน มีการแปรเปลี่ยนของสถานการณ์อย่างมาก ทั้งในส่วนที่จะมีวัคซีนใหม่ๆ ทยอยประกาศผล ประเทศไทยจะสามารถพิจารณาจัดหาวัคซีนเพิ่มได้อย่างเหมาะสม และในส่วนที่มีการรายงานเชื้อกลายพันธุ์ที่อาจส่งผลต่อการใช้วัคซีนที่ผลิตรุ่นแรก การที่ประเทศไทยในเวลานี้สามารถวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นน้ำ จะเป็นหลักประกันอันดีว่าเราจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ในเวลาที่เหมาะสมและสามารถพึ่งพาตนเองในการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ทั้งในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 และโรคติดต่ออุบัติใหม่ในอนาคตได้
************************************ 15 มีนาคม 2564