นายกฯ ห่วงใย "น้ำท่วม" 5 จังหวัดภาคใต้ กำชับ สธ.ดูแลผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกาย-จิต เน้นกลุ่มเปราะบางใกล้ชิด
- สำนักสารนิเทศ
- 44 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ระดมผู้เชี่ยวชาญเร่งศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด 6 ด้าน อาทิ ประสิทธิผล ความปลอดภัย การสร้างภูมิคุ้มกันโรค การติดตามเชื้อกลายพันธุ์ คาด 1-2 เดือนได้ผลเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นข้อมูลให้ผู้บริหารประเทศกำหนดนโยบาย วางแผนเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ส่วนกรณีตลาดย่านบางแค ยังค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง นำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ ยืนยัน กทม.มีเตียง 1,867 เตียง เพียงพอรองรับผู้ติดเชื้อได้
วันนี้ (17 มีนาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการศึกษาวิจัยการฉีดวัคซีนโควิด 19 ว่าคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 มีคณะทำงานด้านวิชาการ ศึกษาวิจัยผลการให้วัคซีนโควิด 19 เพื่อเสนอนโยบายต่อผู้บริหารประเทศ ให้คนไทยได้รับวัคซีนที่ผ่านการรับรองแล้ว มีความปลอดภัย เกิดภูมิต้านทานโรค และเข้าถึงวัคซีนอย่างเป็นธรรม โดยวางกรอบการศึกษา 6 ด้าน ได้แก่ 1.นโยบาย/ระบบการให้วัคซีน เช่น การทำวัคซีนพาสปอร์ตเพื่อรองรับการเปิดประเทศ มีโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ดำเนินการศึกษาเรื่องข้อกำหนดวัคซีนพาสปอร์ตของ 10 ประเทศอาเซียน สถาบันประสาทวิทยาศึกษาผลข้างเคียงของวัคซีนต่อระบบประสาท เป็นต้น
2.ประสิทธิผล/ภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ได้ตัวเลขประสิทธิผลของคนไทย โดย รพ.จุฬาลงกรณ์ศึกษาภูมิคุ้มกันในประชากรทั่วไป รพ.ศิริราชศึกษาในบุคลากรสาธารณสุข รพ.รามาธิบดีศึกษาในผู้ป่วยโรคไต และกรมการแพทย์ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็ง 3.การบริหารแผนงาน มีการศึกษาเรื่องการลดระยะเวลาการกักตัวคนเดินทางเข้าประเทศ 4.การประกันควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 5.การสื่อสารสู่สาธารณะ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ 6.การติดตามเชื้อกลายพันธุ์
“การวิจัยทั้งหมดได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประมาณเกือบ 50 ล้านบาท คาดว่า 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีผลการศึกษาเรื่องภูมิคุ้มกันออกมาก่อนว่า ผลการใช้วัคซีนโควิด 19 ในคนไทยเป็นอย่างไร เหมือนในต่างประเทศหรือไม่” นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว
สำหรับกรณีตลาดย่านบางแคที่พบผู้ติดเชื้อ 200-300 ราย ยังมีการค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง นำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครมีเตียง 1,867 เตียง ใช้ดูแลผู้ป่วย 274 เตียง เหลืออยู่ 1,593 เตียง ถือว่าเพียงพอที่จะรองรับผู้ติดเชื้อได้
**************************************** 17 มีนาคม 2564