นายกฯ ห่วงใย "น้ำท่วม" 5 จังหวัดภาคใต้ กำชับ สธ.ดูแลผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกาย-จิต เน้นกลุ่มเปราะบางใกล้ชิด
- สำนักสารนิเทศ
- 43 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลื้มเปิดห้องปฏิบัติการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลศรีสะเกษ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจในจังหวัดได้เข้าถึงการรักษา ลดการเดินทาง ลดการรอคิวรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้กว่า 300 ราย ต่อปี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเปิดห้องปฏิบัติการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลศรีสะเกษ
นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการดูแลประชาชนให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพปลอดภัยลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอยรักษา และลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยและครอบครัว โดยมีการทำงานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ การเปิดห้องปฏิบัติการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดโรงพยาบาลศรีสะเกษในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มศักยภาพการรักษาโรคหัวใจครบถ้วน ทั้งดูแลรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ สวนหัวใจ ผ่าตัดหัวใจในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และใกล้เคียง ให้สามารถเข้าถึงการบริการได้สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ได้รับการรักษาใกล้บ้าน ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ช่วยลดการเสียชีวิต ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่ผ่านมาต้องส่งต่อผู้ป่วยรับการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์และโรงเรียนแพทย์อื่น โดยเฉลี่ย 300-400 ราย ต่อปี และรอคิวนัดหมายเพื่อทำหัตถการเป็นเวลา 8-10 เดือน ใช้เวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาล ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งอาจเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างทางได้
นายอนุทินกล่าวต่อว่า โรงพยาบาลศรีสะเกษ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 788 เตียง มีห้องปฏิบัติการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด และอุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ สามารถเปิดให้บริการได้ในวันที่ 1 เมษายน 2564 ในระยะแรกจะเปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยสิทธิจ่ายตรงกรมบัญชีกลาง และจ่ายค่ารักษาเอง คาดว่าจะให้บริการกับผู้ป่วยที่อยู่ในระบบประมาณ 50-100 รายต่อเดือน ขณะนี้ใช้งานเป็นห้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจกับผู้ป่วย มีแพทย์อายุรกรรมหัวใจประจำ 1 คน แพทย์ทำหัตถการ 1 คน และพยาบาลประจำห้องปฏิบัติการ 9 คน
ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ทุกคนมีส่วนพัฒนาเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาล หากโรงพยาบาลมีเครื่องมืออุปกรณ์พร้อม เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลไม่ต่อส่งไปรักษาที่อื่นโดยไม่จำเป็นได้ ด้วยการร่วมสนับสนุนบริจาคเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือทุนทรัพย์ หนึ่งคนให้หลายคนรับ แม้เพียงเล็กน้อยอาจช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยหลายคนได้
*********************** 20 มีนาคม 2564
*********************************