“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 7 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขแจงผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีนโควิด 19 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญสรุปเบื้องต้นไม่น่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด 19 เผยเป็นโรคประจำตัวของผู้ป่วย แต่บังเอิญมาเกิดขึ้นหลังรับวัคซีน 10 วัน คาดสรุปผลทางการได้ภายใน 1-2 วัน ชี้มีประวัติเส้นเลือดแดงโป่งพอง ถือเป็นภัยเงียบ มีโอกาสเส้นเลือดแตกได้ตลอดเวลา เดินหน้าสร้างความรอบรู้สุขภาพประชาชน เข้าถึง เข้าใจข้อมูล เพื่อปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง
วันนี้ (26 มีนาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และนายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แถลงข่าวกรณีพบผู้เสียชีวิตจากเส้นเลือดในท้องโป่งพองแตกหลังรับวัคซีนโควิด 19
นายแพทย์โสภณกล่าวว่า กรณีข่าวพบผู้ที่เสียชีวิตจากเส้นเลือดในช่องท้องโป่งพองแตกหลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 นั้น เป็นการตรวจพบจากระบบการติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีนในช่วง 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน ตามมาตรฐานสากล ผ่าน Line Official “หมอพร้อม” และการโทรสอบถามจากโรงพยาบาลที่ให้บริการ เปรียบเสมือนสัญญาณกันขโมยตรวจจับความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพื่อความปลอดภัยของผู้รับวัคซีนทุกคนการที่ประชาชนให้ความสนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นสิ่งดี กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องให้ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) กับสื่อมวลชน และประชาชนเพื่อลดความตื่นตระหนก ซึ่งมี 3 ขั้นตอน คือ การเข้าถึงข้อมูล ไม่ปิดบัง, การเข้าใจข้อมูล และการนำไปใช้หรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีตามมา
ทั้งนี้ เหตุการณ์การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณา คาดจะสรุปผลอย่างเป็นทางการภายใน 1-2 วัน แต่เบื้องต้นมั่นใจว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เป็นเหตุบังเอิญหรือเหตุร่วมที่เกิดขึ้น สำหรับการฉีดวัคซีนในบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงในระยะเวลา 1 เดือน ฉีดไปแล้วกว่า 120,000 โดสพบว่าประชาชนมีความมั่นใจและมีแนวโน้มต้องการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนขยายบริการไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือจัดรถบริการลงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เมื่อมีวัคซีนเข้ามามากขึ้นเพื่อให้เกิดความครอบคลุมกลุ่มประชากรเป้าหมาย
ด้านนายแพทย์ทวีกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวเป็นชายอายุ 41 ปี จ.สมุทรปราการ มีโรคประจำตัวคือ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นหลายจุด ได้เข้ารับผ่าตัดรักษาโรคนี้ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 โดยรักษาในโรงพยาบาล 40 วัน และพักฟื้นที่บ้านต่อ 1 สัปดาห์ อาการปกติดี จึงเข้ารับการประเมินและฉีดวัคซีนโควิด 19 ตามนัดหมายเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ซึ่งประเมินแล้วว่าสามารถรับวัคซีนได้ โดยหลังฉีดวัคซีน 1 วัน รายงานผ่านหมอพร้อมว่าอาการปกติ จนวันที่ 7 หลังฉีดไม่สามารถติดต่อเพื่อรายงานอาการ ต่อมาวันที่ 8 หลังฉีดวัคซีนผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก จุกที่ลิ้นปี่ วิงเวียนศีรษะเป็นลม จึงเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษา พบว่ามีเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตกหรือรั่วซึม วันต่อมาอาการทรุดลงและเสียชีวิตวันที่ 13 มีนาคม 2564 แพทย์สรุปว่าเสียชีวิตจากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตก ซึ่งเป็นโรคเก่าของผู้ป่วย แต่บังเอิญเกิดร่วมหลังจากรับวัคซีนได้ 10 วัน และสรุปเบื้องต้นว่า วัคซีนไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยรายนี้ถึงกับเสียชีวิต
“คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญสรุปเบื้องต้นว่า ไม่น่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งในการพิจารณานั้นคณะกรรมการมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรคด้านนั้นๆ ร่วมด้วยเป็นองค์คณะใหญ่ รวมถึงการเอาข้อมูลจากผลทางห้องปฏิบัติการต่างๆ มาพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตาม จะมีการพิจารณาข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เพิ่มขึ้นคาดว่าจะสรุปผลการสอบสวนโรคอย่างเป็นทางการได้ใน 1-2 วัน” นายแพทย์ทวีกล่าว
นายแพทย์ทวีกล่าวต่อว่า หัวใจของคนเราจะมีเส้นเลือดแดงใหญ่ที่แตกแขนงไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย การเกิดเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองนั้น มักเกิดในผู้สูงอายุที่ร่างกายเริ่มมีความเสื่อมสภาพ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง คนสูบบุหรี่ หรือภาวะพิการแต่กำเนิด ซึ่งโรคนี้เปรียบเสมือนระเบิดเวลามีโอกาสแตกหรือรั่วซึมได้ตลอดเวลา และที่สำคัญคือ มักไม่มีอาการบ่งบอกให้ทราบล่วงหน้าได้ จึงมักเป็นการบังเอิญตรวจเจอ อาการที่บ่งบอกโรคนี้คือ เจ็บหน้าอก ปวดท้องเฉียบพลัน มึนศีรษะ เป็นลม มีก้อนเต้นตุ้บๆ ที่หน้าท้อง เป็นต้น ส่วนการรักษา ถ้าก้อนเส้นเลือดแดงโป่งพองมีขนาดเล็กจะเฝ้าระวังและลดความเสี่ยงต่างๆ แต่ถ้าก้อนใหญ่ แตกต้องผ่าตัดทันที ถ้ายังไม่แตกศัลยแพทย์ช่องทรวงอกและหัวใจ อาจใส่อุปกรณ์ถ่างขยายหลอดเลือด (สเต็นท์) หรือผ่าตัดต่อใส่หลอดเลือดเทียม เพื่อรักษาชีวิตคนไข้
**************************** 26 มีนาคม 2564
**********************************