“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 8 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขยืนยันคนไทยที่ติดเชื้อโควิด 19 ทุกคนจะต้องได้รับการรักษาฟรี มีเตียงรองรับทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน และมี Hospitel เสริม หากตรวจพบเชื้อแล้วยังไม่ได้เตียง โทรสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 หรือ สายด่วน สปสช. 1330 ขอความร่วมมือทุกคนที่ป่วย แม้ไม่มีอาการให้เข้ารับการรักษาตามระบบ ป้องกันการแพร่เชื้อสู่ครอบครัวและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด
วันนี้ (12 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวในประเด็นการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้นโยบายว่า ผู้ติดเชื้อโควิดทุกรายควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งกรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักที่บริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อ โดยทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้ทำงานเป็นเครือข่าย จัดทำข้อมูลเตียงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (Co-Ward) ในการบริหารจัดการเตียงร่วมกัน ข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2564 ทั่วประเทศ มีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั้งจากโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ทั้งหมด 23,483 เตียง ว่างอยู่ 18,257 เตียง สำหรับภาพรวมในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีเตียงรองรับทั้งหมด 4,454 เตียง ว่างอยู่ 2,056 เตียง หากรวมเตียงสนามและ Hospitel ที่ได้รับความร่วมมือจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและภาคเอกชน ที่ขณะนี้ว่างอยู่ อีก 944 เตียง จะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ได้ทั้งหมด 3,000 เตียง ขอให้ความมั่นใจว่าผู้ติดเชื้อทุกคนไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ จะต้องได้รับการรักษาฟรี จากทุกโรงพยาบาล ยกเว้นผู้ที่มีประกันสุขภาพ โรงพยาบาลจะคิดค่ารักษาจากประกันก่อน
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนให้มีการบริหารจัดการเตียงเป็นเครือข่าย หากตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลเอกชนจะเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนก่อน และจะมี Hospitel ซึ่งใช้ห้องพักโรงแรมทำเป็นโรงพยาบาล มีโรงพยาบาลคู่ขนานดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย และไม่มีอาการแทรกซ้อน มีแพทย์ พยาบาล ประจำ ประเมินอาการทุกวัน หากอาการแย่ลง จะส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลทันที นอกจากนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำสายด่วน เพื่อรองรับสถานการณ์ และจัดการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ สายด่วนกรมการแพทย์ (เฉพาะกิจ) 1668 รับสาย 08.00-22.00 น. ทุกวัน และสายด่วน สปสช. 1330 รับสายตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์เอราวัณ ได้เพิ่มสายด่วน 1669 ร่วมกันประสานหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อโควิด 19
“ขอความร่วมมือผู้ที่ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อโควิด 19 แล้ว ทุกคนให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แม้จะไม่มีอาการ เนื่องจากอาจไม่เคร่งครัดการแยกตัวจากผู้อื่น และอาจพบอาการปอดอักเสบได้ในระยะหลัง ส่วนผู้ที่อยู่ระหว่างการรอผลการตรวจให้เคร่งครัดมาตรการ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ป้องกันการแพร่เชื้อสู่ครอบครัวและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด”นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็น ผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์นั้น ส่วนใหญ่ (มากกว่า 2 ใน 3)ของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการ อาจพบอาการรุนแรงได้ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วน อายุมาก มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือครรภ์เป็นพิษ ข้อมูลจากกกรมอนามัย พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อจำนวน 60 ราย ยังไม่พบรายใดที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ส่วนการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกข้อมูลจากทั่วโลกพบได้เพียงร้อยละ 2 - 5 และทารกมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด ประมาณร้อยละ 15.1 และยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเรื่องการแท้งบุตร อย่างไรก็ตามควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากสูติ-นรีแพทย์ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ติดเชื้อ ขอให้เข้ารับการฝากครรภ์ตามปกติ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างจากผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือสถานที่ชุมชน อย่างเคร่งครัด
********************************** 12 เมษายน 2564