“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 14 View
- อ่านต่อ
รัฐบาลขอความร่วมมือทุกหน่วยงานจัดรูปแบบการทำงาน Work from Home หลังประกาศให้หน่วยงานรัฐทุกแห่งดำเนินการเต็มรูปแบบหลังสงกรานต์ ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ พร้อมสำรวจยาเวชภัณฑ์ ยืนยันมีเพียงพออย่างน้อย 5 เดือน สำหรับรับมือสถานการณ์โควิด 19
วันนี้(13 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 965 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 654 ราย การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 302 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ฉีดแล้ว 578,532 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 505,215 ราย และครบ 2 เข็ม 73,317 ราย โดยขณะนี้ วัคซีนโควิด 19 ที่ประเทศไทยได้รับมาแล้วจำนวน 1,117,000 ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นเดือนเมษายน 2564 จะต้องฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายให้ได้ 400,000 คน ข้อมูล ณ วันที่ 13 เมษายน ได้ฉีดไปแล้ว 346,718 คน ซึ่งเร็วกว่าที่คาดหมายไว้
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อของประเทศไทยในรอบใหม่นี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระจายตัวไปทั่วประเทศและพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนขึ้นบ้างบางจังหวัด ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง มีจำนวน 2,626 ราย พบมากที่สุดคือในกรุงเทพมหานคร เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว ร้อยละ 39 พนักงานสถานบันเทิงร้อยละ 31 ส่วนที่จังหวัด ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ และ สระแก้ว มีผู้ติดเชื้อที่เป็นนักท่องเที่ยวสูงกว่าร้อยละ 50 ส่งผลให้เกิดการแพร่เชื้อในผู้สัมผัสตามมา กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในวงกว้าง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยการให้แต่ละจังหวัดตรวจ คัดกรอง ค้นหา ผู้ติดเชื้อ เพื่อจำกัดวงและลดการแพร่ระบาด เฝ้าระวัง สอบสวน ควบคุมการระบาด โดยการ แยก/กัก/สังเกต ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ โดยผู้ติดเชื้อ1 คน มีโอกาสทำให้เกิดผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ประมาณ 5 คน มีอัตราการติดเชื้อที่ประมาณร้อยละ 5-7 โดยมาตรการสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้ทำการกักตัวเองเป็นเวลา 14 วันอย่างเคร่งครัด ตรวจหาเชื้อจำนวน 2 ครั้ง (ครั้งแรกเมื่อทราบว่าเป็นผู้สัมผัส เมื่อผลเป็นลบให้ตรวจครั้งที่ 2 ใน 7 วันต่อมา) สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และสังเกตอาการของตนเอง หากป่วยให้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้รับรักษาตามระบบ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำให้สังเกตอาการตนเอง หลีกเลี่ยงคนหมู่มาก สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากป่วยให้พบแพทย์ ห้ามไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด
นายแพทย์โอภาสกล่วงต่อว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานราชการทุกแห่งจัดรูปแบบการทำงานที่บ้าน “Work from Home” อย่างเต็มรูปแบบช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ และกระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือหน่วยงานภาคเอกชนร่วมมือกับภาครัฐ จัดรูปแบบการทำงานดังกล่าว อย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยในเฉพาะในจังหวัดเสี่ยง เพื่อช่วยลดและควบคุมการแพร่เชื้อโควิด 19 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์ไว้ว่า หากดำเนินการมาตรการปิดสถานเสี่ยง ร่วมกับลดกิจกรรมรวมตัว มีมาตรการองค์กร ล็อคดาวน์เฉพาะจุด และประชาชนทุกคนร่วมมือกันเข้มพฤติกรรมส่วนบุคคล จะทำให้มีผู้ติดเชื้อต่อวันต่ำกว่า 100 คน ในระยะ 1 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการสำรวจ ยาและเวชภัณฑ์คงคลังทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรับมือหากเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ได้แก่ หน้ากาก N95 มีจำนวน 3,188,721 ชิ้น เพียงพอสำหรับ 1 ปี หน้ากากอนามัยทางการแพทย์จำนวน 121,360,699 ชิ้น เพียงพอสำหรับ 9 เดือน และชุดป้องกัน Cover All เพียงพอสำหรับ 5 เดือน ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลือ 575,783 เม็ด เพียงพอสำหรับ 5-6 เดือน นอกจากนี้ องค์การเภสัชกรรมได้สั่งซื้อเพิ่มอีก 500,000 เม็ด เพื่อให้พียงพอต่อสถานการณ์
“ขอความร่วมมือ ให้ผู้ติดเชื้อทุกคนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อสู่ชุมชน หากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสั่งให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้วปฏิเสธการรักษาจะผิดทางกฎหมาย พรบ. โรคติดต่อตามมาตรา 34 นอกจากนี้ยังห้ามเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปรักษายังจังหวัดอื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างทางและในจังหวัดปลายทาง” นายแพทย์โอภาสกล่าว
********************************** 13 เมษายน 2564
***************************************