กระทรวงสาธารณสุขเผยแนวโน้มโควิดเริ่มชะลอตัว คาด 1-2 สัปดาห์จะลดลงหากช่วยกันควบคุม แจงคำสั่งปิดโรงเรียน เพื่อลดความเสี่ยงเด็กที่อาจติดเชื้อไม่มีอาการแล้วนำไปแพร่ผู้สูงอายุที่บ้าน ห่วงติดเชื้อในที่ทำงาน ย้ำ Work From Home งดรวมกลุ่มกินข้าวสังสรรค์ ส่วนวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดสเตรียมฉีด 5 กลุ่ม

          วันนี้ (18 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,767 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 1,477 ราย คัดกรองเชิงรุก 288 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย การติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ติดเชื้อ 13,488 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 13,569 ราย และเสียชีวิตสะสม 7 ราย ทั้งนี้ การระบาดส่วนใหญ่อยู่ที่เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา กทม. ปริมณฑล ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนจังหวัดอื่นติดเชื้อในวงจำกัด ถ้าทุกคนร่วมมือกันจะควบคุมสถานการณ์ได้ คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลง

          "การระบาดระลอกนี้เกิดจากสถานบันเทิง นักเที่ยวนำไปติดครอบครัว ที่ทำงาน และชุมชน เช่น กรณีโรงเรียนเอกชน จ.สมุทรปราการ ครูไปนำเชื้อติดเพื่อนร่วมงาน นักเรียน และกระจายไปยังครอบครัว รวม 32 ราย ที่เป็นห่วงคือเด็กติดเชื้อไม่ค่อยมีอาการ อาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้สูงอายุในครอบครัวเดียวกันได้ อาจทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต จึงต้องสั่งปิดสถานศึกษาในช่วงนี้" นายแพทย์โอภาสกล่าว

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า สถานการณ์ยังพบผู้ป่วยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มเริ่มชะลอตัว ผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้น จากการมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เริ่มมีการระบาดไปยังหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ จึงต้องร่วมกันช่วยลดผู้ติดเชื้อโดยใช้มาตรการส่วนบุคคล หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น มีมาตรการองค์กร โดยเฉพาะการทำงานที่บ้าน (Work From Home) คัดกรองผู้เข้าออก งดกิจกรรมรวมกลุ่มสังสรรค์ ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน เพราะต้องถอดหน้ากากอนามัย โดยขอให้ใส่หน้ากากให้มากที่สุดตลอดเวลาที่อยู่ใกล้กับบุคคลอื่น ล้างมือ แยกภาชนะส่วนตัว ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ขณะนี้มีประมาณ 5 แสนเม็ด อัตราการใช้อยู่ที่ 1 หมื่นกว่าเม็ด ต่อวัน ถือว่าเพียงพอ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการและมอบหมายองค์การเภสัชกรรมซื้อเพิ่ม 1 ล้านเม็ด คาดว่าส่งมอบได้ปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า และกำลังเจรจาสั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 1 ล้านเม็ด

          สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 17 เมษายน 2564 ฉีดแล้ว 608,521 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 526,706 ราย และเข็มสอง 81,815 ราย ส่วนวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดสได้รับมอบและกระจายไปจังหวัดต่างๆ แล้ว จัดสรรให้ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 599,800 โดส ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้นโยบายต้องฉีดกลุ่มนี้ให้ได้ 100% ภายใน 2 สัปดาห์ 2.ควบคุมโรคระบาดพื้นที่สีแดง 100,000 โดส 3.ผู้มีโรคประจำตัว 157,200 โดส  4.เจ้าหน้าที่ บุคลากรอื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสคนจำนวนมาก 54,320 โดส และ 5.สำรองไว้กรณีฉุกเฉิน 98,680 โดส

          “กรณี ส.ส.ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เนื่องจากถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีการลงพื้นที่พบประชาชนจำนวนมาก เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อจากการทำงาน หากมีการติดเชื้ออาจมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวจำนวนมาก ดังนั้น การให้วัคซีนจึงเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรค” นายแพทย์โอภาสกล่าว

 ************************************** 18 เมษายน 2564



   
   


View 4283    18/04/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ