รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมโรงพยาบาลสนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด 19 สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติฯ และศูนย์แรกรับสนามกีฬาหัวหมาก-นิมิบุตร รับผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีเตียงในเขต กทม.

      วันนี้ (25 เมษายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เยี่ยมโรงพยาบาลสนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด 19 (Cohort Ward) โดยมีนายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) รายงานสถานการณ์และรายละเอียดการจัดตั้งหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด 19 และดูความพร้อมในการเปิดศูนย์แรกรับและส่งต่อที่สนามกีฬาอินดอร์สเตเดียมหัวหมากและสนามกีฬาแห่งชาติ (นิมิบุตร) โดยนายอนุทินกล่าวว่า โรงพยาบาลสนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด ขนาด 200 เตียงของ สบยช. เปิดใช้แล้ว 130 เตียง มีผู้เข้าพักแล้ว 117 ราย ส่วนที่เหลือกำลังทยอยเปิดเพิ่ม หากผู้ป่วยอาการเปลี่ยนแปลงมีระบบส่งต่อโรงพยาบาลปทุมธานีได้ทันที  โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นผู้จัดการรถขนย้ายผู้ป่วย

       สำหรับศูนย์แรกรับและส่งต่อได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มอบพื้นที่สนามกีฬา 2 แห่ง ให้กระทรวงสาธารณสุขรับผู้ติดโควิดที่ไม่มีเตียง เพื่อคัดกรองและแยกระดับอาการเขียว เหลือง แดงก่อนส่งต่อไปรักษาตามความเหมาะสม เป็น Pre-admission Center ให้บริการเหมือนโรงพยาบาล มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์พร้อม ส่วนบุคลากรจะระดมแพทย์ พยาบาล จากจังหวัดที่ควบคุมสถานการณ์ได้ดีสลับหมุนเวียนดูแล โดยได้รับการติดต่อจากภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนเตียงมากถึง 5 พันเตียง แต่ย้ำว่าไม่ใช่โรงพยาบาลสนาม เพราะจุดประสงค์การตั้งต่างกันและไม่ใช่สถานที่ตรวจหาเชื้อหรือเข้ารับการกักตัวแต่อย่างใด

     “กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับผิดชอบพื้นที่ กทม. โดยตรง แต่เมื่อเห็นว่ายังมีปัญหาเรื่องผู้ป่วยและรอเตียงจำนวนมาก จึงต้องเข้ามาบูรณาการจัดการเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโควิดตกค้างตามบ้าน ซึ่งขณะนี้มีสายด่วนในการโทรติดตามให้รับการรักษา แต่หากไม่ทันใจ อยากเข้าสู่ระบบโดยเร็ว สามารถเข้ารับการคัดกรองและดูแลตามระบบได้ทันที ถือเป็นหน่วยเก็บตกอีกช่องทางที่ช่วยเร่งให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลเร็วขึ้น” นายอนุทินกล่าว 

      นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การมีโรงพยาบาลสนามและฮอสปิเทลรองรับผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ รวมทั้งรับผู้ป่วยที่อาการดีหรือรักษาหายออกมาดูแลต่อให้ครบระยะเวลา จะช่วยให้เตียงในโรงพยาบาลมีมากขึ้น โดยเฉพาะเตียงไอซียู กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายจะทำทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้สถานการณ์ต้องถึงขั้นเปิดไอซียูสนาม ทั้งนี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วย และการที่แต่ละจังหวัดมีการออกมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ประชาชนก็ให้ความร่วมมือด้วยดี เช่น กทม.พบว่าการจราจรเบาบางลง คนออกมาข้างนอกน้อยลง ขอให้อดทนร่วมกันยกการ์ดสูง มั่นใจว่าเมื่อผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ผู้ป่วยในโรงพยาบาลทยอยหายมากขึ้น เมื่อตัวเลขต่างๆ เคลียร์ และวัคซีนมีมากขึ้นทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้น  

************************************* 25 เมษายน 2564

*************************



   
   


View 2840    25/04/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ