กระทรวงสาธารณสุข เร่งสอบสวน ควบคุมโรค ค้นหาผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสโรคในแคมป์คนงานหลักสี่ หลังพบโควิดสายพันธุ์อินเดีย ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขประเทศอังกฤษพบการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคไม่แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพ แนวทางการรักษาและควบคุมโรคยังเหมือนเดิม ย้ำการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ไม่มีการปิดกั้นภาคเอกชน

          วันนี้ (21 พฤษภาคม 2564) เวลา 15.00 น. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวกรณีแคมป์ก่อสร้างในพื้นที่เขตหลักสี่ พบการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย ว่า ธรรมชาติเชื้อโควิด 19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา โดยสายพันธุ์ที่ให้ความสนใจคือ กลายพันธุ์แล้วแพร่ระบาดง่ายขึ้น ก่อโรครุนแรงหรือเสียชีวิตมากขึ้น และส่งผลให้วัคซีนป้องกันโรคไม่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้การระบาดในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ มีสายพันธุ์จี และสายพันธุ์ดั้งเดิมเล็กน้อย กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับห้องปฏิบัติการมหาวิทยาลัยต่างๆ ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิด 19 เพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่างๆ โดยจากการตรวจ 61 ตัวอย่าง พบ 15 ตัวอย่างตรงกับสายพันธุ์อินเดีย เป็นชาย 7 คน หญิง 8 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี เป็นคนงานในแคมป์ก่อสร้าง 12 คน ผู้สัมผัสร่วมบ้าน 3 คน ทั้งหมดมีอาการเล็กน้อย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ได้เป็นแรงงานผิดกฎหมายแต่อย่างใด

          “สายพันธุ์อินเดียมีการระบาดมากในหลายประเทศ ทั้งอินเดีย อังกฤษ มาเลเซีย รวมทั้งเคยพบในสนามบินซางฮี ประเทศสิงคโปร์ ส่วนเมียนมาและกัมพูชาการตรวจสายพันธุ์ยังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด เชื่อว่าอาจมีสายพันธุ์อินเดีย  ดังนั้นประเทศไทยจึงมีโอกาสที่จะพบสายพันธุ์อินเดียหลุดรอดเข้ามา โดยมาจากทางไหนต้องอาศัยการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสทั้งตัวที่พบในไทยเปรียบเทียบกับเชื้อของประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมกับใช้หลักระบาดวิทยาในการสอบสวนโรค ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ต้องรอข้อมูลทั้งสองส่วนประกอบกัน” นายแพทย์โอภาสกล่าว

          ทั้งนี้ ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขประเทศอังกฤษพบว่า การแพร่เชื้อ ความรุนแรงของสายพันธุ์อินเดียไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ ไม่ส่งผลต่อผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เนื่องจากอังกฤษมีการระบาดของทั้งสองสายพันธุ์ เมื่อฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ครอบคลุมจำนวนมากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ส่วนมาตรการควบคุมโรคสายพันธุ์อินเดียไม่แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษหรือสายพันธุ์อื่นๆ คือ มาตรการป้องกันส่วนบุคคล ทั้งสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ มาตรการด้านสาธารณสุข เมื่อพบผู้ป่วยต้องแยกกัก นำเข้าสู่การรักษาโดยใช้เวลารักษา 14 วันเหมือนกัน ให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง นำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำเข้าสู่การตรวจ และมาตรการทางสังคม มีการควบคุมการเข้าออก เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายน้อยที่สุด 

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับการจัดหาวัคซีนโควิด 19 รัฐบาลมอบให้กระทรวงสาธารณสุข จัดหาวัคซีนฉีดให้แก่ประชาชนด้วยความสมัครใจไม่คิดมูลค่า เพื่อป้องกันควบคุมโรคและลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต โดยวัคซีนหลักของประเทศไทยคือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่จะทยอยส่งมอบจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป ร่วมกับวัคซีนอื่นที่จะจัดหามาเพิ่มเติม โดยล่าสุด ศบค.ชุดใหญ่ได้เห็นชอบแผนการกระจายวัคซีนแล้ว แต่จากการระบาดของโรคโควิด 19 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งรัดจัดหาวัคซีนล่วงหน้าก่อนแผนหลักเพื่อมาควบคุมการแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564 กระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ 2.6 ล้านโดส สามารถฉีดได้ 2.5 ล้านโดส แสดงถึงศักยภาพการฉีดของประเทศไทย แม้จะดูว่าตัวเลขการฉีดน้อยในเวลานี้ แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนตามแผนหลักคาดว่าจะฉีดวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

          ส่วนที่มีการสอบถามว่าภาคเอกชนนำวัคซีนเข้ามาได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีวัคซีนโควิด 19 ขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว 4 ราย คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโมเดอร์นา ยังมีอีกหลายรายที่รอขึ้นทะเบียน เช่น ไฟเซอร์ เป็นต้น ดังนั้น ภาคเอกชนต่างๆ สามารถจัดหาวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้วเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่ที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องการขายให้ภาครัฐโดยตรง ถือเป็นสิทธิของผู้ขาย คณะกรรมการด้านวัคซีนทางเลือกจึงมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนในการเจรจานำวัคซีนเข้ามา จะเห็นว่าไม่เคยมีการปิดกั้นการนำวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนแล้วเข้ามาในประเทศไทย

          “จากการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายราย ส่วนใหญ่จะส่งมอบวัคซีนให้ได้ในไตรมาสที่ 4 หรือประมาณเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งมีข่าวดีว่าหลายบริษัทจะเริ่มมีการนำวัคซีนจากแหล่งอื่นๆ มาให้ประเทศไทย อาจได้วัคซีนเข้ามาอีกหลายตัว หากมีความชัดเจนจะรายงานความคืบหน้าต่อไป และย้ำว่าการจัดซื้อวัคซีนมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เพื่อความโปร่งใสเสมอ” นายแพทย์โอภาสกล่าว

 *********************************** 21 พฤษภาคม 2564

 



   
   


View 2014    21/05/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ