รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชวน ยุว อสม. เป็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่ช่วยเสริมกำลัง อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สื่อสารสร้างความตระหนักในการฉีดวัคซีน ชักชวนครอบครัวและคนรอบข้าง ฉีดวัคซีนโควิด 19 สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ ผลสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนโควิด 19 ล่าสุด พบ กลุ่มผู้สูงอายุต้องการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 49.8 และกลุ่มอายุ 15 – 59 ปีอยู่ที่ร้อยละ 44.6

          วันนี้ (27 พฤษภาคม 2564) ที่ห้องกมลทิพย์ โรงแรมเดอะสุโกศล กทม. ดร.สาธิต  ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมงานเสวนา Virtual Talk เรื่อง “รักใครให้ชวนฉีด (วัคซีน)” ในพิธีประกาศรณรงค์และประชุมอภิปราย เนื่องในวันสุขภาพบัญญัติ โดยมีหน่วยงานเครือข่ายเด็กและเยาวชน อาทิ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มูลนิธิครอบครัวพอเพียง สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และยุวอสาสมัครสาธารณสุข ร่วมเสวนา

          ดร.สาธิตกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนายุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) แกนนำเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษา เป็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่ช่วยเสริมกำลัง อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นนักสื่อสารสุขภาพ ในสถานการณ์โควิด 19  หยุดยั้งการระบาด ลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ภายใต้คำขวัญ “ยุว อสม. ชวนครอบครัวทั่วไทย พร้อมใจฉีดวัคซีน” ซึ่งผลสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนโควิด 19 ล่าสุด ระหว่างวันที่ 1-15 พฤษภาคม 2564 พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุต้องการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 49.8 และกลุ่มอายุ 15 – 59 ปีอยู่ที่ร้อยละ 44.6 ขณะที่เป้าหมายการฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 70 ของประชากร ดังนั้น ได้ให้ ยุว อสม. ที่มีทุกตำบลทั่วประเทศ ตำบลละอย่างน้อย 10 คน รวม 72,550 คน โดยตั้งเป้าให้ยุว อสม. 1 คน ช่วยชี้แจง ชักชวน พ่อแม่ สมาชิกในครอบครัว คนรอบข้าง อย่างน้อย 2 คน สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 จะช่วยขยายผลให้มีผู้มาฉีดวัคซีนได้ถึง 145,100 คน  

         “การแพร่ระบาดจะสามารถควบคุมได้ด้วยความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ และขอให้ทุกคนช่วยกันชวนครอบครัว เพื่อน ไปฉีดวัคซีน เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ป้องกันการเกิดโรค ลดความรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อ และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19” ดร.สาธิตกล่าว

          ด้านนายแพทย์ธเรศ  กรัษนัยรวิวงค์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับแนวทางหลักในการสื่อสารรณรงค์เนื่องในวันสุขบัญญัติแห่งชาติในปีนี้ ได้กำหนดแนวคิดให้ ยุว อสม. ใช้กลยุทธ์ 3 ช. เพื่อรณรงค์การฉีดวัคซีน คือ ชี้แจง ทำความเข้าใจกับคนใกล้ชิด คนในครอบครัว เรื่องความปลอดภัยและการฉีดวัคซีนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 และหากได้รับเชื้อโควิด 19 ก็จะป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต, ชักชวน ให้มาลงทะเบียนในช่องทางที่สะดวก เพื่อรับการฉีดวัคซีน และ ช่วยเหลือ ผู้สูงอายุหรือบุคคลในครอบครัวที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง ให้สามารถลงทะเบียนได้ และติดตามช่วยเหลือหลังจากฉีดวัคซีน

         ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมกับ องค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก คณะแพทยศาสตร์ซิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนไทย จำนวน 30,067 คน รอบล่าสุด ระหว่างวันที่ 1 – 15 พฤษภาคม 2564 พบว่า ประชาชนมีความต้องการรับวัคซีนร้อยละ 45.8 โดยกลุ่มผู้สูงอายุต้องการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 49.8 และกลุ่มอายุ 15 – 59 ปีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 44.6 โดยปัจจัยที่มีผลต่อการรับวัคซีนมากที่สุดคือสถานการณ์การระบาดในพื้นที่มีผลต่อการตัดสินใจรับวัคซีน รองลงมาคือความปลอดภัยของวัคซีน อาการข้างเคียงของวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีน ปัจจัยส่วนบุคคล ประโยชน์อื่นที่ได้รับจากการฉีดวัคซีน ตามลำดับ

 *************************************** 27 พฤษภาคม 2564

**********************************************

 



   
   


View 694    27/05/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ