นายกฯ ห่วงใย "น้ำท่วม" 5 จังหวัดภาคใต้ กำชับ สธ.ดูแลผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกาย-จิต เน้นกลุ่มเปราะบางใกล้ชิด
- สำนักสารนิเทศ
- 44 View
- อ่านต่อ
คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เห็นชอบร่างนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการเฝ้าระวังฯระดับชาติ (พ.ศ.2564-2580) และร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์ พัฒนามาตรการเฝ้าระวังควบคุมโรคฯ ผ่านเครือข่าย เน้นจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ประชาชนแจ้งเหตุการณ์ผิดปกติ พัฒนามาตรฐานอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมถึงระดับท้องถิ่น เฝ้าระวังควบคุมกิจการอันตรายในระดับพื้นที่
วันนี้ (9 มิถุนายน 2564) นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์
นายแพทย์ประพนธ์กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) นโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมระดับชาติ (พ.ศ.2564-2580) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการ (Action Plan) ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564-2566) และระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ภายใต้ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 14 (1) พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้คณะกรรมการฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ ร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติดังกล่าวประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนามาตรการเฝ้าระวังสุขภาพ เน้นจัดการที่แหล่งกำเนิดมลพิษ ยกเลิกการใช้วัสดุหรือสารเคมีที่เป็นอันตราย พัฒนาค่ามาตรฐานและมาตรการเฝ้าระวังมลพิษสิ่งแวดล้อม พัฒนามาตรการการเงินการคลัง มาตรการทางสังคมและกฎหมายเพื่อลดโรค พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ, ยุทธศาสตร์ที่ 2 การขับเคลื่อนการป้องกันควบคุมโรคฯ แบบบูรณาการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยส่งเสริมให้มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการระบบเฝ้าระวังและข้อมูล ทั้งกำลังคน ห้องปฏิบัติการ รวมถึงให้ผู้ประกอบอาชีพและประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย และร่วมแจ้งเหตุการณ์ผิดปกติ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การควบคุมกำกับบริการอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม โดยจัดให้มีบริการตรวจวัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีมาตรฐาน มีระบบบริการทันสมัย พัฒนามาตรฐานการให้บริการอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม สร้างระบบประเมินมาตรฐานการให้บริการ พัฒนาความร่วมมือกับเครือข่าย พัฒนารูปแบบบริการนอกโรงพยาบาล และพัฒนาระบบบริการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคฯ กลุ่มอาชีพอิสระ ผู้สูงอายุ และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาช่องทางให้ภาคประชาชนทำงานกับรัฐ เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพระดับชาติและระดับท้องถิ่นให้เกิดข้อบัญญัติการควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีการเฝ้าระวังในพื้นที่ พัฒนานวัตกรรมใหม่ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีรูปแบบที่หลากหลาย น่าสนใจ และเข้าถึงง่าย
*********************************** 9 มิถุนายน 2564
*************************************