“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 7 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุขชี้แจง การกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ดำเนินการตามแผน ศบค. กำหนด ส่วนการบริหารจัดการฉีดขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัดและกทม.จัดการตามจำนวนที่ได้รับเพื่อให้ฉีดวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าก่อนเดือนกันยายน คนไทยประมาณร้อยละ 60-70 จะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก
วันนี้ (13 มิถุนายน 2564) ที่ สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวชี้แจงประเด็นการจัดสรรวัคซีนโควิด 19 โดยนายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากกรณีที่โรงพยาบาลหลายแห่งประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนโควิด 19 เนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข ขอชี้แจงว่า ในการดำเนินงานบริหารจัดการวัคซีนกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดหา โดยองค์การเภสัชกรรม และกรมควบคุมโรคเป็นผู้กระจายวัคซีนตามแผนที่ศบค. วางไว้ ได้แก่ ใน 76 จังหวัด และกทม., ประกันสังคม, อธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 11 สถาบัน, องค์กรภาครัฐ และสำรองไว้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินมากกว่า 2 แสนโดส โดยตั้งเป้าหมายว่าก่อนเดือนกันยายน 2564 คนไทยประมาณร้อยละ 60-70 จะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก เพื่อให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันในเดือนตุลาคม และทำการเปิดประเทศต่อไป
สำหรับการจัดหาวัคซีนที่ผ่านมา ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม มีประสิทธิภาพ แต่ในช่วงเดือนมิถุนายนวัคซีนที่จัดหามีน้อยกว่าที่วางแผนไว้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับแผนการบริหารจัดการในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายนนี้ โดยพยายามจัดสรรเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ หรือสองสัปดาห์ เพื่อให้การฉีดวัคซีนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนการจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัด เป็นผู้บริหารจัดการฉีดให้กับประชาชนเป้าหมายให้สอดคล้องกับช่วงเวลา และจำนวนวัคซีนที่ได้รับ เช่น ในกรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดสรรวัคซีนกว่าล้านโดสในเดือนมิถุนายน ซึ่งต้องมีการวางแผน กำหนดเป้าหมาย รวมถึงกระจายไปยังครือข่าย ศูนย์ฉีดวัคซีนต่างๆ และมีการกำหนดทิศทางร่วมกัน เพื่อให้เกิดการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่อไป
ด้านนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการกระจายวัคซีนตามการจัดสรรของที่ประชุม ศบค. โดยตั้งสมมติฐานว่าเดือนมิถุนายน จะได้รับจำนวน 6.3 ล้านโดส แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ทั้งในส่วนจังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมถึงกองทุนประกันสังคม มหาวิทยาลัย องค์กรภาครัฐ และสำรองสำหรับสถานการณ์การระบาดฉุกเฉิน ในจำนวนนี้ กทม. จะได้รับจำนวน 1,160,000 โดส ส่วนอีก 76 จังหวัดที่จะได้ 3,220,000 โดส ซึ่ง ศบค.ได้กำหนดข้อแม้ไว้ว่าหากวัคซีนไม่ได้รับตามเป้าจะมีการลดทอนตามสัดส่วนหรือหากเกิดการระบาดสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงจากนี้ได้
******************************** 13 มิถุนายน 2564